เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่นในในสหรัฐอเมริกา หรือ 21.00 น. ตามเวลาในไทย ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ได้ประชุมเพื่อสดุดีและถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ยูเอ็น สดุดี ในหลวงร.9 ชูกษัตริย์นักพัฒนา ประมุขผู้ยิ่งใหญ่
ต่อมานายบัน คี มุน เลขาธิการยูเอ็น ได้กล่าวแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยระบุว่า พระองค์ท่านทรงได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ ตนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระองค์ท่านเมื่อปี 2550 พระองค์ทรงเป็นพลังที่สำคัญของประเทศในการรักษาความมีเสถียรภาพ ทรงทุ่มเทในพระราชกิจเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน
ด้านนายคาฮา อิมนัดซี ผู้แทนถาวรจอร์เจียประจำสำนักงานยูเอ็น นครนิวยอร์ก ในฐานะประธานภูมิภาคยุโรปตะวันออก ได้กล่าวแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า พระองค์ทรงทุ่มเทเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ทรงเป็นที่รักของประชาชน ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก ความดีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญนำไปสู่การกระทำความดีของผู้อื่น พระองค์ท่านได้ทุ่มเทอย่างหนักในการพัฒนาในหลายๆ ด้าน นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็นได้เคยกล่าวไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
ขณะที่นายอับดัลเลาะห์ วาฟี ผู้แทนถาวรไนเจอร์ประจำสำนักงานยูเอ็นในนครนิวยอร์ก ในฐานะประธานภูมิภาคแอฟริกา กล่าวแสดงความเสียใจต่อพระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาลและประชาชนชาวไทย ต่อการสูญเสียครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยและทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชนไทยทั้งมวล พระองค์ทรงก่อให้เกิดความเจริญรุดหน้าที่น่าทึ่งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมส่วนใหญ่ของประเทศในหลายทศวรรษที่ผ่านมา โครงการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการตลอดช่วงรัชสมัย 70 ปี ตั้งแต่โครงการด้านชลประทานเรื่อยไปจนถึงแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชทานมาให้ ที่นำไปใช้ทั่วไปนอกประเทศไทยเพื่อยังผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสูญเสียครั้งนี้ไม่แค่เป็นการสูญเสียของประเทศไทยแต่เป็นความสูญเสียของทั้งโลก พระองค์จะถูกจดจำและสักการะต่อไปในฐานะกษัตริย์นักพัฒนา กลุ่มประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเชื่อว่ามรดกตกทอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการอันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระองค์จะกลายเป็นแรงบันดาลใจแก่ชาวไทยและประชาคมนานาชาติต่อไป ขอพระองค์เสด็จฯสู่สวรรคาลัย
นายมันซูร์ อัล โอไทบี ผู้แทนถาวรคูเวตประจำสำนักงานยูเอ็น นครนิวยอร์ก ในฐานะประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อรัฐบาลและประชาชนชาวไทยในการสูญเสียผู้ซึ่งเป็นประทีปนำทางของประเทศตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ทรงเป็นผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นและเอกภาพให้กับประเทศในห้วงเวลาของความยากลำบาก เป็นที่รับรู้ทั่วกันว่าพระองค์คือผู้สร้างสันติและมีความเห็นอกเห็นใจ ทรงโปรดให้มีการสานเสวนาแทนที่ความขัดแย้ง ส่งผลให้ทรงได้รับความเคารพสักการะสูงสุดตลอดรัชสมัยของพระองค์ นำพาประเทศให้รุ่งเรืองรุดหน้าสู่ความเป็นผู้นำของภูมิภาค และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความรักและห่วงใยที่พระองค์ทรงมีต่อประเทศไทยนั้นเห็นได้จากการที่ทรงยึดมั่นในการนำพาประเทศไทยและคนไทยทั้งชาติไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กระทั่งโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กราบบังคมทูลเกล้าฯถวายรางวัลผู้ทรงประสบความสำเร็จสูงสุดในการพัฒนามนุษย์ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ได้จากพวกเราทั้งหลายไปแล้ว ความสูญเสียของประเทศไทยคือความสูญเสียของผู้คนทั่วทั้งภูมิภาคและโลกทั้งโลก