ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้คำราชาศัพท์ที่เกี่ยวกับพระบรมศพว่า ตนเองชอบใจในกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมบอกว่าภาวะนี้เป็นภาวะที่ประชาชนทุกข์โศกและจงรักภักดี ใจคิดอย่างไรก็ให้พูดออกมา อยากใช้คำอะไรก็ใช้แต่ต้องระวัง อย่าให้เป็นการลดทอนพระบรมเดชานุภาพ แต่ถ้าทำได้ถูกตามระเบียบแบบแผนจะเป็นการดี เพราะถือว่าเป็นการสืบความรู้ต่อไป อาทิ คำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ซึ่งคำนี้เป็นคำโบราณที่ผู้ใหญ่รุ่นเก่าใช้เรียกแปลว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จสวรรคตแล้วไม่ว่าจะทรงสถิตอยู่ในพระบรมโกศหรือไม่
นายวิษณุกล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อสำนักพระราชวังได้ออกคำชี้แจงมาก็ถือว่าถูกต้องและเป็นการดี เพราะวันนี้สื่อโทรทัศน์ใช้คำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศบ่อยเกินไปบางครั้งใช้โดยที่ไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นบางทีอาจจะเรียกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ เพราะเรายังไม่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ส่วนคำแนะนำของสำนักพระราชวังที่ถูกต้องตามแบบแผนอาจจะทำให้คนที่อ่านเกิดความรู้สึกตะกุกตะกักแต่ใครสะดวกที่จะใช้แบบไหนก็สามารถใช้ได้ไม่ผิด
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับคำอื่น ๆ เวลาที่จะ "อาลัย" เราไม่เคยพูดคำว่า "ให้อาลัย" แต่จะบอกเพียงว่า "ไว้อาลัย" เพราะฉะนั้นความอาลัยไม่ได้มีไว้ให้ผู้ตาย แต่เป็นสิ่งที่จะต้องเก็บไว้ในใจของเรา เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่า "ถวายอาลัย" ไม่ได้ เพราะคำว่า "ถวาย" แปลว่า "ให้" จึงใช้แค่คำว่า "ไว้อาลัย" หรือ "แสดงความไว้อาลัย" ส่วนอีกคำที่มีการออกมาแนะนำจากสำนักพระราชวัง และสำนักนายกรัฐมนตรี คือเวลาไปกราบพระบรมศพ ถ้าไปงานศพอื่นก็ใช้คำว่า "ไหว้ศพ" แต่กรณีพระบรมศพควรใช้คำว่า "ถวายสักการะพระบรมศพ" หรือ "ถวายบังคมพระบรมศพ"
"วันนี้ขออย่ามาตำหนิว่าใครใช้คำศัพท์ผิด ใครอยากใช้อะไรก็ใช้ไป แล้วอย่ามาตำหนิเรื่องการแต่งดำหรือแต่งขาว บางคนหาผ้าไม่ทัน ก็ให้นำโบว์สีดำมาติด เรารู้ว่าใจเขาคิดอย่างไร เขาไม่ได้คิดต่างจากที่เราคิด ถ้าเราโศกเขาก็เศร้า ของอย่างนี้อย่ามาตำหนิกัน " นายวิษณุกล่าว