อีก10ปีไทยเสี่ยงเกิดสึนามิเตรียมระวังฝั่งทะเล

อีก10ปีไทยเสี่ยงเกิด"สึนามิ"เตรียมระวังฝั่งทะเล

4 สิงหาคม 2550 19:44 น.
นักวิทยาศาสตร์ชี้อีก 5-10 ปี ไทยเสี่ยงเกิด "สึนามิ" ซ้ำ! แนะเตรียมพร้อมตลอดชายฝั่งทะเล เตือนอย่าพึ่งตื่นกลัวภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมโลก เชื่อสามารถแก้ไขได้ แต่มหาอำนาจ "มะกัน-จีน" ต้องลดการใช้น้ำมันลง ขณะที่ กทม.แจกต้นไม้ 5 แสนต้นให้ประชาชนปลูกคลายโลกร้อน

ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวว่า สมาคมธรณีศาสตร์แห่งเอเชียและโอเชียเนีย ได้จัดประชุมวิชาการนานาชาติ "Asia Oceania Geosciences Society" ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม-4 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,100 คน จาก 40 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน สหรัฐอเมริกา เพื่อนำเสนอผลวิจัยกว่า 1,400 เรื่อง และหารือเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศ อุทกวิทยา สมุทรศาสตร์ ดาราราศาสตร์ ธรณีภาค ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ รวมถึงภาวะโลกร้อน และสึนามิด้วย

ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนมีการพูดถึงกันมาก และทุกคนยอมรับว่า ภาวะโลกร้อนเริ่มเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว โดยมีตัวบ่งชี้คือ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น 0.4 องศาเซลเซียส และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 10 เซนติเมตร ในรอบ 100 ปี ยืนยันโดยสถาบันสมุทรศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับ

"อย่างไรก็ตาม ที่มีการทำนายว่า ในอนาคตภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น เกิดน้ำท่วมใหญ่ เพราะอุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 10 องศา รวมทั้งทำให้ภัยธรรมชาติอย่าง เฮอริเคน ไต้ฝุ่น เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นนั้น เป็นแค่การคาดการณ์ส่วนบุคคล ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ไม่สามารถยืนยันว่าจะเกิดขั้นจริงๆ หรือไม่ เพราะมีหลายปัจจัยในเรื่องภาวะโลกร้อนที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาวิจัย" ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ กล่าว


ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ ระบุว่า ยังไม่ควรตกใจ เพราะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าจะเกิดภัยพิบัติรุนแรงในอนาคตจริงหรือไม่

 ต้องวิจัยให้ชัดเจนกว่านี้ก่อนจึงจะตอบได้ แต่เชื่อว่าภาวะโลกร้อนยังอยู่ในวิสัยที่นักวิทยาศาสตร์จะหาทางแก้ไขได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา หรือ จีน ที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ) เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศของโลก

ด้าน ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ได้ศึกษาพบหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า ก่อนเกิดสึนามิครั้งใหญ่ของประเทศไทย เมื่อปี 2547 นั้น ในอดีตเมื่อ 600 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยเกิดสึนามิครั้งใหญ่มาก่อน และจากการวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ถึงโอกาสในการเกิดสึนามิครั้งใหญ่ซ้ำนั้น พบว่าในสหรัฐเกิดสึนามิใหญ่ซ้ำหลังจาก 700 ปี ผ่านไป ส่วนญี่ปุ่น 500 ปี

"อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดยืนยันว่า ในอีก 5-10 ปีข้างหน้านี้ จะไม่เกิดสึนามิใหญ่ซ้ำอีกในประเทศไทย เพราะฉะนั้นควรมีการเตรียมพร้อมรับมือจากภัยสึนามิ ด้วยการเตรียมแผนและซักซ้อมรับมือภัยพิบัติ รวมทั้งวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลหรือมหาสมุทรให้เหมาะสมอีกด้วย" ดร.เครือวัลย์ กล่าว


ขณะที่ ศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า

 คณะได้ศึกษารังสีคอสมิก (Cosmic Ray) ซึ่งเป็นอนุภาคจากอวกาศ พบว่าชั้นบรรยากาศที่บางลง และการปล่อยดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศจำนวนมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนในปริมาณรังสีคอสมิกที่มาถึงโลก ในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งรังสีคอสมิกนี้จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของมนุษย์ และทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยไม่แน่ใจว่าการเกิดโรคใหม่นั้นมาจากการกลายพันธุ์ของไวรัสด้วยหรือไม่

"นอกจากนั้น สารคอสมิก เรย์ เมื่อรวมกับธาตุต่างๆ ในโลก จะกลายเป็นสารกัมมันตภาครังสี โดยเฉพาะเมื่อเครื่องบินต่างๆ จะเปลี่ยนไปบินที่ระดับ 4 หมื่นฟุตเหนือพื้นดิน ที่ชั้นอากาศเบาบางแทนระดับ 3 หมื่นฟุต เพื่อประหยัดน้ำมันแล้ว จะทำให้คนในเครื่องบินได้รับผลกระทบมากขึ้น" ศ.ดร.เดวิด กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์