กระทรวงวัฒนธรรม กอบกู้หน้าคืน จัดเสวนาโขน

กระทรวงวัฒนธรรม กอบกู้หน้าคืน จัดเสวนาโขน



ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวในการเสวนา เรื่องโขน : รามายนะ มรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมร่วมอาเซียน จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมว่า โขน หมายถึงการแสดงศิลปะ นาฏศิลป์ชั้นสูงที่ผู้แสดงสวมหน้ากาก มีต้นกำเนิดจากการละเล่น 3 อย่าง คือ หนังใหญ่ การละเล่นกระบี่กระกระบอง และการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ ที่ดึงลักษณะเด่นของการละเล่นแต่ละอย่างออกมาพัฒนาเป็นโขน โดยมีประวัติย้อนไปถึงสมัยสุโขทัย และพัฒนารูปแบบการเล่นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสมัยอยุธยา โขน เป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ ถึงปัจจุบัน โขนไทยถือเป็นศิลปะชั้นสูง เป็นองค์รวมของศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม อยากย้ำว่า การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกับยูเนสโกนั้น ไม่ใช้สิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์ ใครขึ้นทะเบียนไปแล้ว ประเทศอื่นก็สามารถขึ้นทะเบียนได้อีก

ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมและภาษา กรมศิลปากร กล่าวว่า คนไทยรู้จักพระรามมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เช่น ชื่อรามคำแหง หมายถึง แข็งแกร่งเหมือนราม ในแต่ละยุคสมัยจะมีเรื่องเกี่ยวกับรามเกียรติ์อยู่ในคติความเชื่อและวรรณกรรมต่าง ๆ และมีหลักฐานบันทึกว่า การเล่นโขนมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีคำพากย์รามเกียรติ์ 9 ภาค ซึ่งเอาไว้พากย์โขนและหนังใหญ่

"ในภูมิภาคนี้ มีวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น มโนรา ก็มีเล่นตั้งแต่มณฑลยูนนานของจีน สิบสองปันนา กัมพูชา ลาวและไทย หรืออย่างพระรสเมรี ในกัมพูชาและพม่า ก็มีเขานางชี สิ่งเหล่านี้ คือ สมบัติร่วมสืบทอดกันในภูมิภาค เพราะฉะนั้น ประเด็นว่าใครจะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมภูมิปัญญากับยูเนสโกนั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่า ประเทศเจ้าของมรดกนั้น จะรู้จักอรุรักษ์สานต่อคุณค่านี้ไว้อย่างไร และควรมีการแบ่งปันชื่นชมด้วย เพราะถือว่าเป็นสมบัติของมนุษยชาติ

โขนก็เช่นกัน อย่าไปตีความจนทะเลาะกัน หากควรร่วมมือกันในการอนุรักษ์ และจริง ๆ แล้ว ปัจจุบัน คณะโขนในไทยก็เหลือแค่ 2 คณะ คือ โขนกรมศิลปากร กับโขนสถาบันบัณฑิต ที่เคยมีอยู่ในคลองบางกอกน้อยเป็นสิบคณะตายหมด ทั้งนี้ เพราะเราไม่ช่วยกันรักษา ครั้นพอมีคนจะมาขอขึ้นทะเบียนแล้วไปบอกว่า นี่ของกู อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง"

ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกนั้น สามารถขึ้นได้หลายประเภท ประเภทแรกคือ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ 2.มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ใกล้จะสูญหาย หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ และ 3.มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งโขนไทยนั้น เป็นตัวอย่างอันดีของการอนุรักษ์สานต่อจนปัจจุบัน เกิดความตระหนักอย่างกว้างขวาง มีโรงเรียนเปิดสอนโขนหลายแห่ง เพราะฉะนั้น กรณีโขนไทยน่าจะเสนอในช่องทางดังกล่าว

"ประเทศไทยยังไม่สามารถเสนอขึ้นทะเบียนโขนได้ เพราะยังไม่ได้เป็นสมาชิก แต่ทราบจากผู้แทนกระทรวงต่างประเทศว่า เรื่องการสมัครเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกนั้น เรื่องอยู่ที่ปารีสแล้ว ท่านเอกอัครทูตไทยประจำกรุงปารีส กำลังรอเข้าพบผอ.ยูเนสโกอยู่ คาดว่า ใช้เวลาอีกไม่นาน การสมัครเป็นสมาชิกภาคีจะเรียบร้อย แต่ระหว่างที่รอสมัครสมาชิกภาคีนั้น ทางเราก็เตรียมเรื่องเสนอขึ้นทะเบียนโขนไปด้วย เพราะฉะนั้น ถือว่า ไม่ล่าช้า "

ดร.สุรัตน์ จงดา อาจารย์ประจำวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิตโขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า จริงแล้ว โขนไทยและละครโขนที่ทางกัมพูชาจะเสนอขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้น ก็มาจากรากเหง้าเหมือนกัน ต้นกำเนิดโขนมาพร้อมคติความเชื่อเทวนิยมตามฮินดูจากขอม ส่วนละครโขนที่ทางกัมพูชาจะเสนอขึ้นทะเบียนนั้น เป็นโขนนั่งราวของพระตะบอง ซึ่งในอดีตนั้น พระตะบองเป็นส่วนหนึ่งของสยาม มีตระกูลอภัยวงศ์ดูแล โขนที่เล่นในพระตะบองในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เป็นโขนของตระกูลนี้ และมีโขนที่ชาวบ้านเล่นกันด้วย ภายหลังฝรั่งเศสยึดครองพระตะบอง เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองปราจีนบุรีแทน


Cr.naewna

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์