ที่สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย แถลงข่าวชี้แจงกรณีการแถลงข่าวของคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการนำภาพของพระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ขณะเข้ารับการรักษาอาการอาพาธ กระทั่งต่อมามีแพทย์คนหนึ่งนำไปวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติ พร้อมนำไปเผยแพร่ในโลกสังคมออนไลน์ ว่ามีการใช้เครื่องช่วยหายใจที่ไม่ถูกต้องตามลักษณะการใช้งาน และเป็นการจัดฉากของแพทย์ที่ทำการรักษาเพื่อแสดงให้เห็นว่าพระธัมมชโยอาพาธ ว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่พระธัมมชโย เข้ารับการรักษาอาการอาพาธ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อปี พ.ศ.2542 หรือ 17 ปีที่แล้ว ไม่ใช่ภาพปัจจุบัน ซึ่งเป็นการนำมาประกอบการแถลงข่าวของคณะศิษย์ฯ เท่านั้น
"เหตุการณ์ในภาพเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่การจัดฉาก การที่คณะศิษย์ฯ นำภาพนี้มาใช้ก็เพื่อแสดงถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2542 ให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่แถลงข่าว ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นสภาพการรักษาพระธัมมชโยในปัจจุบัน และการดัดแปลงเครื่องช่วยหายใจเป็นการจัดการของโรงพยาบาลไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระธัมมชโย" นายองอาจ ชี้แจง
นายองอาจ กล่าวชี้แจงต่อไปว่า
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเครื่องช่วยหายใจสีเขียว หรือที่เรียกว่า Bird Ventilator หรือ Bird ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจรุ่นเก่าต้องใช้กับท่อหายใจเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้กับหน้ากากที่เห็นในภาพได้นั้น ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ดัดแปลงเครื่องช่วยหายใจสีเขียว หรือ Bird ให้สามารถใช้กับหน้ากากตามที่เห็นในภาพได้ เพื่อเป็นการช่วยแรงดันบวกขณะหายใจ
นายองอาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า
เบื้องต้นได้มอบหมายให้ทีมกฎหมายของคณะศิษย์ฯ รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการร้องเรียนด้านจริยธรรมต่อแพทยสภากับแพทย์ที่ออกมาให้ความเห็นเป็นรายๆ ไป พร้อมเรียกร้องให้ผู้โพสต์ลบภาพดังกล่าวออกทันที