29 พฤษภาคม 59 เวลา09.00 น. นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 งานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้รับแจ้งจาก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จ. อุดรธานีว่า พบผู้ป่วยโรคไข้ซิกา เป็นชายอายุ 34 ปี ราษฎร หมู่ 1 ต.เชียงดา อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี เดินทางไปทำงานที่ประเทศไต้หวันวันที่ 19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่าเป็นไข้ซิกา ซึ่งขณะนี้ถูกกักตัวเพื่อรับการรักษาที่สนามบินไต้หวัน
นพ.สมิต ประสันนาการ กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งรายงาน ได้ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อควบคุมป้องกันโรคติดต่อของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จ. อุดรธานี และเจ้าหน้าที่ในเขตรับผิดชอบ ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามผู้อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยจำนวน 5 ราย เพื่อดำเนินการควบคุมป้องกันโรค พร้อมทั้งเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดตามเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
โดยได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัดเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและร่วมกับฝ่ายท้องถิ่นดำเนินการพ่นยากำจัดยุงตัวแก่ในเขตที่พบผู้ป่วยและใกล้เคียงเป็นที่เรียบร้อย ดำเนินการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน กำจัดลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ในหมู่บ้านที่พบผู้ป่วยและหมู่บ้านใกล้เคียงและจัดทำแผนรณรงค์ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยความร่วมมือของฝ่ายท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่
นพ.สมิต ประสันนาการ กล่าวต่อว่า จากการเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดร่วมบ้านผู้ป่วยทั้ง 5 รายพบว่า แม่ของผู้ป่วยมีผื่นเล็กน้อย ไม่มีไข้ จึงได้ส่งเชื้อไปตรวจ และแจ้งผลมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พบว่ามีเชื้อไข้ชิกา ส่วนรายอื่นๆ ไม่มีอาการผิดปกติ ซึ่งจะต้องติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน หากพบมีอาการผิดปกติจะได้ดำเนินการกักตัวและควบคุมโรคทันที นอกจากนี้ยังตรวจเลือดและปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ 103 คน อ.สร้างคอม พบหญิงตั้งครรภ์ 2 คน มีเชื้อไข้ชิกา จึงอยู่ในการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ และสั่งควบคุมโรคในพื้นที่ 3 หมู่บ้านใน ต.เชียงดา และเฝ้าระวังตำบลใกล้เคียง 3 ตำบล มี ต.นาสะอาด ต.สร้างคอม และ ต.สร้างนางขาว อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
สำหรับโรคไข้ซิกาเกิดจากเชื้อไวรัสซิกา มียุงลาย เป็นพาหะนำโรค มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4-7 วัน สั้นที่สุด 3 วัน และยาวที่สุด 12 วัน อาการที่พบบ่อย คือ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง ผู้ป่วยอาจมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว สามารถไปรับการตรวจได้ที่ รพสต.และ โรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอ และขอความร่วมมือให้ประชาชนกำจัดลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงป็นประจำทุกสัปดาห์ อย่างต่อเนื่อง
โดยไข้ซิกา ไม่ได้ร้ายแรงเหมือนไข้เลือดออก หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง ผู้ป่วยอาจมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไข้ชิกา เมื่อพบเชื้อให้เข้ารักษาซึ่ง และ อยู่ในพื้นที่ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ป่วย ก็สามารถไปเดินทางไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ อย่าตื่นตระหนก ซึ่งแรงงานชายไทยที่ถูกกักตัวรักษาไช้ซิกาในสนามบินไต้หวัน ได้เข้าไปทำงานตามปกติดังกล่าว