บุรีรัมย์เผย!!ย้ายตึกเจอ พระศรีอาริย์ฯ อายุ 1300 ปี
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ บุรีรัมย์เผย!!ย้ายตึกเจอ พระศรีอาริย์ฯ อายุ 1300 ปี
กรณีกระแสทวงคืนพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ระบุในป้ายจัดแสดงว่ามาจากปราสาทเขาปลายบัด อ.ละหานทราย (ปัจจุบัน อ.เฉลิมพระเกียรติ) จ.บุรีรัมย์ หรือที่เรียกว่า โพธิสัตว์ประโคนชัยนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เปิดเผยว่า มีการพบประติมากรรมพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ภาควิชาโบราณคดี โดยเป็นประติมากรรมขนาดเล็ก สูง 22.5 ซม. หล่อด้วยสำริด โดย นายดักลาส แลชฟอร์ด ชาวอังกฤษ ได้มอบให้ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี โดยระบุว่าได้จากอำเภอประโคนชัย ต่อมา นายแลชฟอร์ด โอนสัญชาติเป็นคนไทย ชื่อ นายภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาเพาะกายแห่งประเทศไทย เคยมีผลงานเขียนร่วมกับ นางเอ็มมา ซี บังเกอร์ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์ ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับประติมากรรมสำริดที่อำเภอประโคนชัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีข้อมูลระบุว่า นายแลชฟอร์ด เข้ามาพำนักในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2499 หรือ 60 ปีมาแล้ว
ผศ.ดร.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า ในช่วงนี้มีโครงการปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ คณะต่างๆ จึงต้องย้ายออกชั่วคราว จึงมีการจัดจำแนกโบราณวัตถุต่างๆให้เป็นระบบเพื่อขนย้าย ทำให้พบประติมากรรมโพธิสัตว์องค์ดังกล่าวที่ห้องพักอาจารย์ภาควิชาโบราณคดี จึงบันทึกข้อมูล วัดขนาด และถ่ายภาพไว้แล้ว คาดว่าจะมีการนำไปศึกษาองค์ประกอบทางเคมี เพื่อเป็นฐานข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโบราณวัตถุสำริดกลุ่มนี้ในอนาคต
นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระกล่าวว่า การพบโพธิสัตว์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะเท่าที่มีการบันทึกไว้โพธิสัตว์ประโคนชัยในเมืองไทยเหลืออยู่เพียง 3 องค์ 2 องค์ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวหม่อมเจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล อีก 1 องค์ อยู่ที่คณะโบราณคดี โดยไม่มีในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทยเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ซึ่งเรื่องนี้ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ทรงเขียนไว้เองในบทความเรื่อง “ประติมากรรมสัมฤทธิ์จากอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์” ตีพิมพ์ในวารสารโบราณคดี ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2516 นอกจากนี้ ยังทรงเคยเล่าถึงเรื่องดังกล่าวในชั้นเรียนอีกด้วย แต่ในขณะนั้น ตนไม่ได้เห็นของจริง หลังจากนั้น ประติมากรรมดังกล่าวก็ถูกหลงลืมไป เชื่อว่าแม้แต่คนในคณะโบราณคดีเองก็มีน้อยคนที่จะทราบ
“สมัยก่อนบริเวณชั้น 1 ของคณะโบราณคดี เคยมีพิพิธภัณฑ์ เป็นห้องจัดแสดงมีตู้กระจก โบราณวัตถุต่างๆถูกเก็บไว้ในนั้นเยอะมาก เช่น พวกทับหลัง ภาชนะดินเผา และลูกปัด โดยมีวัตถุประสงค์ให้ใช้ในการเรียนการสอน ตอนเรียนปริญญาโท เมื่อ พ.ศ. 2525 ท่านอาจารย์ มจ. สุภัทรดิศ ก็เคยเล่าถึงโพธิสัตว์องค์นี้ แต่ช่วงนั้นไม่ได้สนใจเป็นพิเศษ เลยไม่ได้ติดตามไปหาดูองค์จริง เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ต่อมา ท่านอาจารย์มีแนวคิดที่จะมอบโบราณวัตถุต่างๆที่คณะเก็บไว้ให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เลยเหลืออยู่ไม่กี่ชิ้นแล้ว ส่วนโพธิสัตว์องค์นี้ก็ถูกหลงลืมไป ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จนกระทั่งตอนนี้ แม้ว่าโพธิสัตว์องค์นี้จะมีขนาดเล็ก สภาพไม่สมบูรณ์และไม่ได้สวยงามนัก แต่ถือเป็นโบราณวัตถุล้ำค่ามาก จึงควรนำออกจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ชม” นายทนงศักดิ์กล่าว
นายทนงศักดิ์กล่าวอีกว่าในศาสนาพุทธเชื่อว่า พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย หรือพระเมตไตรยะ บำเพ็ญบารมีอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต รอการลงมาเกิดเป็นมนุษย์-พระพุทธเจ้า เวลาประสูติคือช่วงที่แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ถึงขีดสุด เมื่อข้าวสาลีแต่ละเม็ดแตกออกเป็นแสนกอ แต่ละกอเกิดรวงข้าวแสนรวง แต่ละรวงมีผลเป็นข้าว 2 ทะนาน ฝ่ายเถรวาท นิยมเรียกว่าพระศรีอารย์ พวกทำปาบหนักจะไม่มีโอกาสเกิดทันศาสนาพระเมตไตรยะ ส่วนฝ่ายมหายาน เชื่อว่าพระเมตไตรยะจะลงมาอุบัติบนโลกมนุษย์เป็นยุคเสื่อมเมื่อพระธรรมสูญหาย กินเวลา 3,000 ปี
ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล อดัตคณบดีคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในบทความของศ.มจ.สุภัทรดิศ ได้ตีพิมพ์ภาพโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ โดยพระกรทั้ง 2 ข้างหักหายไป รวมถึงข้อความดังนี้
“เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ยังคงมีเหลืออีก 3 องค์ในประเทศไทย คือ พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยสูง 63 ซม. 1 องค์ เทวดาสูง 39 ซม. 1 องค์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล และพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยขนาดเล็ก สูง 22.5 ซม. 1 องค์ อีกองค์หนึ่ง แต่ชำรุดมาก นายดักลาส แลชฟอร์ด (Douglas Lashford) ชาวอังกฤษมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร”
นายประยงค์ วงศ์ประโคน ชาวอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า อยากให้คณะโบราณคดีนำโพธิสัตว์ดังกล่าวออกมาให้ประชาชนได้ชม โดยอาจมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนครจัดแสดงอย่างถาวร หรือจัดนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับโพธิสัตว์ประโคนชัยที่พช.ในภาคอีสาน เช่น พิมาย หรือสุรินทร์ เพื่อให้ชาวบุรีรัมย์เดินทางไปชมได้สะดวก
“อยากให้มีการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนในท้องถิ่น เพราะเกิดมาก็ไม่เคยเห็นโพธิสัตว์ประโคนชัยองค์จริงมาก่อนเลย คิดว่าน่าจะจัดนิทรรศการบอกที่มาที่ไป โดยนำโพธิสัตว์ที่พบนี้มาแสดงไว้ร่วมด้วย” นายประยงค์กล่าว และว่าขณะนี้ชาวบ้านมีการตื่นตัวมาก เพราะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโพธิสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในงานแห่เทียนพรรษาที่จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีการทำหุ่นโฟมโพธิสัตว์ประโคนชัยร่วมขบวนด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์เจ้าของรางวัลฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ก่อนอื่น ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดถึงที่มาของโพธิสัตว์ว่า มาจากประโคนชัยจริงหรือไม่ และเป็นของแท้หรือไม่ ถ้าใช่ โดยหลักการแล้วควรคืนให้ท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมของตนมากขึ้น อันถือเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตาม หากท้องถิ่นไม่มีศักยภาพที่จะดูแลได้ ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ
“ถ้าเป็นของท้องถิ่นก็ต้องคืนเขาไป การที่ชาวบ้านอยากได้คืน สะท้อนถึงความรักและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของตัวเอง นักวิชาการรุ่นใหม่ต้องใจกว้าง” นายศรีศักรกล่าว