นักดาราศาสตร์ทั่วโลกเตรียมเฝ้ารอชมหนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญที่สุดในปีนี้ของบรรดานักสังเกตการณ์ท้องฟ้าในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ดวงอาทิตย์ ดาวพุธ และโลกจะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นราว 13 ครั้งในรอบ 1 ศตวรรษ
ปรากฏการณ์นี้จะทำให้เห็นดาวพุธเป็นจุดดำก่อนเคลื่อนที่ผ่ากลางไปบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ นับเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งจะกินระยะเวลายาวนานราว 7 ชั่วโมงครึ่ง
"ในช่วงเริ่มต้น ดาวพุธจะดูเหมือนว่าเคลื่อนเข้าใกล้ขอบของดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นจะเริ่มค่อยๆ เคลื่อนผ่านไปบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์อย่างช้าๆ จนทะลุออกมาอีกด้านหนึ่ง" ปาสกาล เดส์ชองส์ แห่งหอดูดาวกรุงปารีสกล่าว และว่า "เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากต้องให้ดวงอาทิตย์ ดาวพุธ และโลกอยู่ในแนวเดียวกันอย่างเกือบสมบูรณ์"
ทั้งนี้ ดาวพุธที่ถือเป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะโคจรครบ 1 รอบ ในทุกๆ 88 วัน และโคจรผ่านระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ทุกๆ 116 วัน แต่วงโคจรของดาวพุธจะเอียงเมื่อเทียบกับโลก ที่หมายความว่าตามปกติแล้ว จากมุมมองของเราจะเห็นดาวพุธเคลื่อนที่ผ่านด้านบนหรือด้านล่างของดวงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม วงโคจรของโลกและดาวพุธจะเรียงกันพอดี 13 ครั้งในรอบ 1 ศตวรรษ ที่ทำให้แม้แต่นักดูดาวสมัครเล่นก็สามารถมองเห็น ดาวเคราะห์ดวงเล็กที่อยู่ห่างออกไปหลายสิบล้านกิโลเมตรดวงนี้ได้
ราชสมาคมดาราศาสตร์อังกฤษเปิดเผยว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันตก พื้นที่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกาเหนือและตะวันตก พื้นที่ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกาใต้จะสามารถเห็นปรากฏการณ์นี้ครบทั้งกระบวนการซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่ 11.12 -18.42 น. ตามเวลามาตรฐานเมืองกรีนิช (จีเอ็มที) (ตรงกับ 18.12 น.ของวันที่ 9 พฤษภาคม ถึง 01.42 น.วันที่ 10 พฤษภาคมในไทย) ขณะที่พื้นที่ที่เหลือของทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้ ทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก พื้นที่ที่เหลือของทวีปแอฟริกาและส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียจะได้เห็นเพียงบางช่วงของปรากฏการณ์เท่านั้น