ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รรท.อธิการบดีสัตวแพทยศาสตร์, ศ.น.สพ.ดร. อภินันทร์ สุประเสริฐ คณบดีสัตวแพทยศาสตร์, ผศ.น.สพ. คัมภีร์ พัฒนะธนัง ผอ.รพส.ม.เกษตรฯ ร่วมแถลงข่าวผลการรักษาอาการ "ลอยด์" สุนัขพันธุ์ชิบะอินุ เพศผู้ อายุ 7 ปี ที่ถูกทำร้ายรุนแรง จนทำให้ขาหน้าฉีก ซี่โครงหัก หูขาด และถูกนำมารักษาที่แผนกฉุกเฉินและสัตว์ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยได้รับการรักษาด้วยเทคนิคการรักษาขั้นสูง และมีการดีขึ้นตามลำดับ
ดร.จงรัก ได้กล่าวว่า หลังจากที่ทาง รพส.มก. ได้รับลอยด์มารักษา และมีการประกาศรับบริจาคเลือด ต้องขอขอบคุณน้ำใจเจ้าของสุนัขที่มาช่วยบริจาคเลือดถึง 66 ราย ซึ่งเป็นกรณีการรักษาที่มีผู้แจ้งความประสงค์มากที่สุด แต่มีสุนัขที่แข็งแรงและพร้อมให้เลือดได้เพียง 17 ราย โดยที่ผ่านมาปัญหาวิกฤตในการรักษา เป็นเรื่องของบาดแผลเปิดที่หน้าอกในลักษณะเป็นโพรงขนาดใหญ่ 16 ซ.ม. ยาว 20 ซ.ม. พื้นที่ประมาณ 320 ซ.ม. ซึ่งไม่สามารถเย็บปิดได้และติดเชื้อรุนแรง มีหนองและเนื้อตายจำนวนมาก จึงต้องให้ยาปฏิชีวนะเฉพาะทางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันต่อมาลอยด์มีอาการซึมเศร้าจากการเสียเลือดเพิ่ม เนื่องจากอกซ้ายมีการหลุดลอกของแผล หลังจากรักษา 6 วัน ทีมสัตวแพทย์จึงเริ่มทำเลเซอร์ Class IV ติดต่อเป็นเวลา 7 วัน ส่งผลให้ขนาดของแผนลดลงไป 70 เปอร์เซ็นต์ โดยล่าสุดลอยด์สามารถกิจอาหารและเลียน้ำได้เอง ลุกยืนและเดินเองได้ดี ขับถ่ายปกติ ทีมสัตวแพทย์จึงใช้นวัตกรรมเลเซอร์ทำแผลและปิดแผลในการรักษา
ด้าน ผศ.น.สพ.คัมภีร์ ได้กล่าวว่า จากการตรวจสอบผลทางนิติวิทยาศาสตร์ ทีมสัตวแพทย์สรุปได้ว่า แผลของสุนัขเกิดจากการทุบตีและใช้ของมีคมฟัน ไม่ใช่แผลที่เกิดจากสุนัขกัดกัน โดยมีการนำชิ้นส่วนกล้ามเนื้อบริเวณแผล มาทำการพิสูจน์ทางจุลพยาธิวิทยา ก็ไม่พบการอักเสบแสดงว่า บาดแผลเกิดขึ้นหลังจากขาได้ขาดออกจากร่างกายไม่เกิน 6 ชม. ส่วนการตรวจด้วยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง หรือทีซีสแกน พบการหักของกระดูกท่อนขาหน้า และการหลุดของข้อศอก ซึ่งรูปแบบการหักเกิดจากการกระชากหรือตี