เรื่องราวพนักงานขับรถ ขสมก.ร้องหาความเป็นธรรมให้เมียรัก
เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 31 ก.ค. โดยนายธวัชชัย เฟื่องพานิชเจริญ อายุ 44 ปี พนักงานขับรถประจำทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สาย ปอ.138 ทางด่วนพระประแดง-หมอชิตใหม่ อยู่บ้านเลขที่ 419/769 หมู่ 10 ต.ในคลองปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ได้ร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวไทยรัฐว่า ต้อง การขอความเป็นธรรมให้กับนางสมสกุล หรือปุ๊ เฟื่องพานิชเจริญ อายุ 44 ปี ภรรยา อดีตพนักงานเก็บค่าโดย สารรถประจำทางสายเดียวกัน ที่ตัดสินใจดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังถูกไล่ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม หนำซ้ำยังมีการนำคำสั่งไล่ออกไปติดประจานตามอู่เดินรถต่างๆ อีกด้วย
นายธวัชชัยเปิดเผยเรื่องราวความเป็นมาที่ออกมาเรียกร้องความถูกต้องให้เมียรัก
ตนเป็นพนักงานขับ รถ ขสมก.มานาน 14-15 ปี ส่วนนางสมสกุล ภรรยาเป็น พนักงานเก็บเงินมาประมาณ 13 ปี และประจำอยู่รถคันเดียวกัน อยู่กินกันมา 30 ปี ไม่มีบุตร โดยนางสมสกุล ได้รับเงินเดือน 14,000 กว่าบาท เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เวลา 17.30 น. นางสมสกุลถูกผู้โดยสารผู้หญิงคนหนึ่ง ร้องเรียนผ่านแบบรับเรื่องร้องทุกข์และแนะนำบริการว่านำตั๋วเก่ามาขาย เป็นตั๋วราคา 22 บาท หมายเลข 7963086
ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ร้องเรียน
สรุปว่าเป็นความจริงตามข้อกล่าวหา ระบุว่าผู้ร้องโดยสารรถคันดังกล่าวจากป้ายวัดสน ถนนสุขสวัสดิ์ ไปลงที่ป้ายโชคชัยร่วมมิตร ถนนวิภาวดีรังสิต ชำระค่าโดยสารเป็นธนบัตรใบละ 20 บาท 1 ใบ กับเหรียญ 1 บาท 2 เหรียญ เมื่อพนักงานเก็บค่าโดยสารประจำรถ ยื่นตั๋วให้ ได้รับและกำไว้ในมือ ตั๋วมีลักษณะเก่า มีรอยจิกเหมือนผ่านการตรวจมาแล้ว และไม่ได้ยินเสียงตัดตั๋วออกจากกระบอกตั๋ว พร้อมกันนี้ได้มอบตั๋วราคา 22 บาท หมายเลข 7963086 ให้เป็นหลักฐาน และลงชื่อรับรองไว้ด้านหลังตั๋ว รวมทั้งได้ชี้รูปถ่ายของนางสมสกุล เฟื่องพานิชเจริญ พนักงานเก็บค่าโดยสารประจำรถ ผู้จำหน่ายตั๋วใบดังกล่าวในวันเกิดเหตุ
คณะกรรมการได้เรียกตัวนางสมสกุลไปสอบสวนที่เขตการเดินรถที่ 5
ตั้งอยู่ย่านแสมดำ โดยนางสมสกุล ไม่รู้เรื่องมาก่อนว่าถูกร้องเรียนจากผู้โดยสารในเรื่องดังกล่าว กระทั่งคณะกรรมการตั้งคำถามต่างๆ เช่น มีหนี้สินอะไรบ้าง เก็บกวาดรถบ้างหรือไม่ และก่อนออกจากอู่ ตรวจสอบความเรียบร้อยบนรถหรือไม่ จึงรู้ว่าถูกผู้โดยสารร้องเรียนเรื่องขายตั๋วใช้แล้ว ซึ่งนางสมสกุลปฏิเสธว่าไม่ได้นำตั๋วเก่าไปจำหน่าย
ซึ่งเมื่อสอบสวนเสร็จสิ้น คณะกรรมการได้ให้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิม
ภายหลังการสอบสวน ทางคณะกรรมการแจ้งว่า ให้การแล้วสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่ต่อมาไม่นานกลับมีคำสั่งให้พักงาน 3 เดือน เพื่อรอผลการสอบสวน จนกระทั่งวันที่ 21 มี.ค. ปรากฏว่าคณะกรรม-การได้มีคำสั่งไล่ออกจากการเป็นพนักงานองค์การ ระบุว่าการปฏิเสธข้อกล่าวหาของนางสมสกุลฟังไม่ขึ้น เนื่อง จากจำนนด้วยพยานบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีอาชีพมั่นคง ไม่มีส่วนได้ประโยชน์จากการกระทำ และพยานเอกสารใบตั๋ว เป็นตั๋วของพนักงานเก็บค่าโดยสารผู้อื่น มีการจำหน่ายเมื่อวันที่ 29 ม.ค. บนรถคันหมายเลข 5-66132 สายการเดินรถที่ 138 ซึ่งเป็นรถคันเดียวกับรถคันเกิดเหตุ ถือว่าเป็นการกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงให้ลงโทษโดยการไล่ออกจากการเป็นพนักงานองค์การ ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสั่งพักงาน และชดใช้ค่าโดยสารจำนวน 22 บาท