จากกรณีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกมาเปิดเผยผลกระทบของผู้ประกันตนที่ประสบปัญหากับการเบิกเงินและเข้าถึงการรับบริการทันตกรรมของสิทธิประกันสังคม เพราะแค่การรับบริการพื้นฐานอย่างอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน แต่ขั้นตอนการเบิกเงินกลับยุ่งยาก โดยเบิกได้เพียงปีละ 600 บาท ขณะที่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งเมื่อเทียบกับสิทธิอื่นๆแล้วกลับไม่ต้อง ล่าสุดเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ย้ำว่าจะนำไปศึกษาข้อเรียกร้องต่างๆ คาดว่าใช้เวลาอีก 3 เดือนได้ข้อสรุปนั้น
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์โรงพยาบาลลำลูกกา จ.ปทุมธานี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข กล่าวว่า จากการทำงานด้านทันตกรรมแก่คนไข้สิทธิสุขภาพต่างๆ พบว่า ข้อเท็จจริงแล้ว สิทธิทันตกรรมประกันสังคมภาพรวมไม่ได้แตกต่างมากนักกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพราะให้สิทธิอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เป็นสิทธิพื้นฐานเหมือนกัน หนำซ้ำสิทธิประกันสังคมได้ให้โอกาสในการไปรับบริการในคลินิกเอกชนต่างๆได้ แต่ต้องสำรองจ่ายเงินในวงเงินแค่ 600 บาทต่อปี ซึ่งจุดนี้คือ ปัญหาใหญ่ เพราะการจำกัดเพดานเงิน และวิธีการเบิกจ่ายที่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนนั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนเป็นอย่างมาก
"มีผู้มารับบริการทันตกรรมคนหนึ่งอายุ 63 ปี ต้องการถอนฟัน แต่เมื่อตรวจวินิจฉัยแล้วกลับพบว่า ต้องขูดหินปูน และอุดฟันจำนวน 4 ซี่ ถามว่าจำนวนเงิน 600 บาทเพียงพอหรือไม่ ซึ่งไม่พออย่างแน่นอน ที่น่าเห็นใจคือ เมื่อไปตรวจสอบสิทธิการรักษากลับพบว่า เป็นผู้ประกันตน เนื่องจากเมื่อเกษียณและออกจากงานแล้ว ยังจ่ายสมทบให้แก่ประกันสังคม เนื่องจากต้องการออมเงิน แต่ปรากฎว่าสิทธิทันตกรรมกลับอยู่ในประกันสังคม แทนที่อายุเกิน 60 ปีจะอยู่ในสิทธิผู้สูงอายุ ตามบัตรทอง ซึ่งไม่ต้องจ่ายเงินค่าบริการสักบาท และรักษาได้ตามอาการความจำเป็น กลายเป็นว่าต้องสำรองจ่าย 600 บาท และจ่ายเงินเพิ่ม กลายเป็นว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่อยากทำฟันเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายของระบบประกันสังคม" ทพญ.มาลี กล่าว
ทพญ.มาลี กล่าวอีกว่า ที่สำคัญเมื่อเทียบกับสิทธิประกันสุขภาพอื่นๆนั้น ปรากฎว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิบัตรทอง สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือแม้แต่สิทธิของแรงงานต่างด้าว ก็ยังไม่มีปัญหาในเรื่องการเบิกจ่ายเลย กล่าวคือ แรงงานต่างด้าวที่ซื้อบัตรสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปีละประมาณ 2,000 บาท ครอบคลุมสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งหมด รวมทั้งทันตกรรม ยกเว้นการใส่ฟันปลอม นอกนั้นเข้ารับบริการได้ แต่สำหรับแรงงานต่างด้าว การเข้าถึงบริการแต่ละครั้งจะต้องจ่ายเงิน 30 บาทตามนโยบายของรัฐบาล แต่แน่นอนว่า แรงงานกลุ่มนี้ยอม เพราะการรักษาฟัน อย่างปัญหารากฟันเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้น สิทธิที่แรงงานต่างด้าวได้รับ ณ ปัจจุบันถือว่าได้มากกว่าผู้ประกันตนเสียอีก จึงน่าคิดว่า ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบทุกๆเดือน และก็เป็นคนไทยที่ต้องจ่ายภาษี แต่ทำไมแค่สิทธิการรักษาทันตกรรมพื้นฐาน ยังมีเรื่องวงเงิน การเบิกจ่ายมาเป็นอุปสรรคอีก
"ประกันสังคมมักบอกว่า เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา เคยให้ผู้ประกันตนไปรับบริการทำฟันได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย แต่ต้องไปทำที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น จนเกิดปัญหารอคิว ผู้ประกันตนก็ร้องเรียนเข้ามา สุดท้ายจึงเกิดระบบสำรองจ่ายในคลินิกเอกชน แก้ปัญหารอคิวนั้น กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมานานเป็นสิบปี ขณะนั้นยังไม่มีกองทุนบัตรทอง แต่เมื่อมีบัตรทองแล้ว และยุคสมัยเปลี่ยน ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นใหม่ ก็สมควรต้องมีการปรับปรุงระบบหรือไม่ เพราะสุดท้ายบัตรทองยังแก้ปัญหา โดยร่วมกับคลินิกเอกชนกว่า 150 แห่ง นำร่องในพื้นที่กทม. ซึ่งทำมาแล้ว 2-3 ปี เห็นชัดว่าบัตรทองทำได้ ประกันสังคมก็ทำได้เช่นกัน" ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าว