กำลังเป็นที่พูดถึงกันเป็นอย่างมากในโลกออนไลน์เมื่อมีการแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊คเล่าเรื่องเพื่อนสมัยเรียนเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน โดยสันนิษฐานว่ามาจากการทำดีท็อกซ์ล้างพิษ ระบุว่า ผู้เสียชีวิต เป็นบุคคลที่แข็งแรง มีสุขภาพดี ทำให้สงสัยว่าเพราะอะไรถึงเสียชีวิตอย่างกระทันหัน จนได้สอบถามไปทางพี่สาวผู้เสียชีวิต จนทราบว่า เพื่อนคนดังกล่าว มาล้างพิษที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ เพื่อทำการล้างพิษด้วยวิธีกินแต่ผลไม้ และน้ำมะพร้าว ผสมกับน้ำใบย่านาง ซึ่งได้ปฏิบัติเช่นนี้ประมาณ 2-3 วัน แต่หลังจากกลับบ้านก็เริ่มมีอาการปวดศีรษะ และเจ็บหน้าอก เมื่อสอบถามไปยังสถานปฏิบัติธรรมกลับได้รับคำตอบว่า เป็นอาการของการล้างพิษ ที่ร่างกายเริ่มขับพิษออกมา จากนั้นผู้เสียชีวิตเริ่มรู้สึกหิว แต่ก็ไม่ยอมกินอะไร เพราะย้ำว่าสูตรล้างพิษห้ามรับประทานแป้ง ต่อมาได้ไปนอนพัก กระทั่งเกิดอาการชักจนเสียชีวิตในที่สุด
ทั้งยังบอกทิ้งท้ายไว้ด้วยว่าอยากให้ช่วยกันแชร์ถึงผลร้ายและผลเสียจากการล้างพิษโดยสูตรหรือวิธีการที่ไม่ใช่แพทย์ เพราะการทำดีท็อกซ์มีอันตรายจากการขาดน้ำ และขาดแร่ธาตุโปแตสเซียม ซึ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหัวใจวายได้ จึงขอเรียกร้องกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตรวจสอบหลักสูตรและผู้ที่สอนว่ามีคุณวุฒิและวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตมากไปกว่านี้
ล่าสุด 22 มี.ค. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวขอตรวจสอบก่อน ว่า สถานปฏิบัติธรรมที่ถูกกล่าวอ้างได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลถูกต้องตามกฎหมายด้วยหรือไม่ จึงขอเวลาตรวจสอบก่อน หากได้ข้อมูลแล้วจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบทันที อย่างไรก็ตาม การทำดีท็อกซ์นั้น จัดเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ แต่ไม่ใช่การรักษา ผู้ที่ให้บริการจะต้องมีความรู้ ดังนั้น เมื่อเป็นทางเลือกการจะรับบริการก็ต้องพิจารณาดีๆ และตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อน อย่างไรก็ตาม หากมีใครที่ได้รับผลกระทบ ขอให้แจ้งหรือร้องเรียนเข้ามาได้ที่ สบส. โทร. 02-193-7999
นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การล้างพิษนั้น ปัจจุบันไม่ได้มีกฎหมายควบคุมชัดเจน ซึ่งการล้างพิษหรือดีท็อกซ์ จัดเป็นแพทย์ทางเลือกที่ต้องมีผู้มีความรู้ความชำนาญในการดำเนินการ เนื่องจากหากไม่ใช่ผู้รู้ จะมีความเสี่ยงต่อชีวิตได้ ในทางกลับกันหากเป็นผู้รู้ผู้มีความชำนาญจะมีการประเมินร่างกายและจิตใจของผู้รับบริการ ว่า มีโรคประจำตัวหรือไม่ และจิตใจพร้อมจะทำการล้างพิษหรือไม่ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความจำเพาะไม่เหมือนกัน อย่างบางคนล้างพิษหักโหม ไม่รับประทานอะไร นอกเหนือจากสูตรที่คิดว่าดี แต่จริงๆ อาจทำให้เกิดภาวะขาดแร่ธาตุ โดยเฉพาะโปแตสเซียม ซึ่งอันตรายมากจะส่งผลต่อระบบหัวใจให้ทำงานผิดปกติ และอาจเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ร่างกายรับไม่ไหว เกิดอาการช็อกและมีผลต่อชีวิตได้เช่นกัน
"สังเกตง่ายๆ หากจะทำการล้างพิษ 1.ต้องทำกับผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย เพราะกลุ่มนี้จะขึ้นทะเบียนใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง หากทำไม่ได้จะถูกถอนใบประกอบวิชาชีพได้ และ 2. ต้องเลือกสถานที่ล้างพิษให้ดี โดยต้องมีแหล่งที่ชัดเจน ไม่เปลี่ยนสถานที่บ่อยๆ โดยหลักควรเป็นสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง หากมี 2 อย่างนี้ก็จะทำให้มั่นใจได้ในความปลอดภัย" นพ.เทวัญ กล่าว