เรื่องของสื่อ “โทรทัศน์” หรือ “ทีวี” ที่ยุคนี้เข้าถึงทุกครัวเรือนไทย
ล่าสุดที่เป็นประเด็นร้อนก็คือนโยบาย “จัดเรตรายการ” ของภาครัฐ นอกเหนือจากการกำหนดตัวอักษรย่อบ่งบอกเนื้อหารายการว่าเหมาะ-ไม่เหมาะกับเด็กและเยาวชนซึ่งทำไปแล้ว โดยนโยบายใหม่นี้ก็มีการท้วงติง-ถกเถียง-เสนอแนะ...กันอย่างกว้างขวางแต่ที่ต้องจับตาทางทีวีอาจมิใช่แค่รายการต่าง ๆ
“โฆษณา” ก็อาจจะถูกตีกรอบให้เข้มยิ่งขึ้น ?!?
เมื่อไม่นานมานี้ ก่อนที่เรื่องจัดเรตติ้งจะเป็นประเด็นร้อน มีรายงานข่าวแว่ว ๆ ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กำลังเพ่งเล็ง “โฆษณาทีวี” โดยเฉพาะที่ออกแนว “หวิว-โป๊”
ขณะที่ ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม ก็เผยไว้ว่า...
ทางนายกรัฐมนตรี ก็เห็นว่าปัญหาสื่อโฆษณาที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะกับเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จึงได้มีการมอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลแก้ไขปัญหา โดยแต่งตั้ง “คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ขึ้น ซึ่งจะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
“เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาทุกสื่อ ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว ซึ่งแบ่งกันดำเนินการ อาทิ อนุกรรมการขจัดสื่อร้าย, อนุกรรมการขยายสื่อดี, อนุกรรมการสร้างภูมิคุ้มกัน, อนุกรรมการดูแลเกี่ยวกับข้อกฎหมาย เมื่อมีคณะอนุกรรมการก็จะมีการพูดคุยกันข้ามกระทรวงในเรื่องของปัญหา เช่น มีภาพโป๊-เปลือย ผู้รักษากฎหมายจะบอกว่าไม่เห็นหัวนมไม่ผิดไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักจะเอาจุดนี้มาเป็นประโยชน์ให้กับตัวเอง ตรงนี้เราต้องหามาตรการทางกฎหมายมาดูแล” ...ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมระบุ
หวิว-โป๊ ถูกเพ่งเล็ง! โฆษณาทีวี หรือก็ต้อง จัดเรต?
อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องของ “โฆษณา” นั้น
วิทวัส ชัยปราณี นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย บอกว่า... ในปัจจุบันจากสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องคิดตรองหาวิธีการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งการอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ให้ได้นั้น การพึ่งพาเพียงสื่อ เช่น โทรทัศน์ สื่อเอาต์ดอร์แบบต่าง ๆ อาจไม่เพียงพอ ต้องพึ่งสื่อในรูปแบบใหม่ ๆ ด้วย
กล่าวสำหรับสปอตโฆษณาทางทีวี นายกสมาคมโฆษณาฯบอกว่า...
แต่ละปีมีประมาณ 12,000 ชิ้น ซึ่งหลัง ๆ ทุกปีจะมีสถิติใกล้เคียง กัน แนวโน้มไม่ลดหรือเพิ่มขึ้น ซึ่งโฆษณาเดี๋ยวนี้ทางครีเอทีฟแต่ละบริษัทต่างก็งัดเอากลเม็ดเด็ดพรายอันแพรวพราวออกมาใช้กันอย่างพรั่งพรู เพื่อ ให้สามารถดึงดูดสายตาผู้ชมที่จับจ้องอยู่หน้าจอไม่ให้ละสายตาหรือกดรีโมตเปลี่ยนช่องไปไหน โดยโฆษณาแต่ละตัวก็ล้วนมีไอเดียที่น่าสนใจแตกต่าง กันไป
กับโฆษณาทางทีวีที่มีภาพหวิว ภาพโป๊ หรือประเภทสองแง่สองง่ามนั้น
นายกสมาคมโฆษณาฯมองว่า... โฆษณาที่ชัดเจนในลักษณะเหล่านี้จะไม่สามารถออกอากาศทางทีวีได้ เพราะมีการเซ็นเซอร์ โฆษณาแบบนี้ส่วนมากจะอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ หรือการดาวน์โหลดภาพลงในมือถือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพนางแบบญี่ปุ่น โดยทางสมาคมคงเข้าไปจัดการอะไรไม่ได้ เนื่องจากคนทำโฆษณาส่วนใหญ่ไม่ผ่านเอเจนซี่ แต่จะทำกันเอง
ทั้งนี้ นายกสมาคมโฆษณาฯยืนยันว่า
ทางสมาคมโฆษณาฯก็ “มีมาตรการเข้มงวดตรวจสอบโฆษณาที่ผ่านทางสื่อโทรทัศน์ เพื่อป้องกันภาพและข้อความเชิงลามกอนาจารเผยแพร่สู่สาธารณชน จนเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมและความเสื่อมเสียวัฒนธรรมไทย” ที่สำคัญโฆษณาภาพหวิว หรือภาพโป๊-ภาพลามก จะทำให้วงการโฆษณามีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และส่งผลกระทบเสียหายไปยังผู้บริโภคโดยตรง
อย่างไรก็ตาม
นายกสมาคมโฆษณาฯยังบอกด้วยว่า... ถ้าเป็นไปได้อยากให้วงการโฆษณามีการพัฒนา โดยตั้งเป็นสภาอุตสาหกรรมโฆษณา คล้าย ๆ กับวงการแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ คนที่ทำโฆษณาควรต้องมีใบอนุญาต เพราะเป็นวงการที่มีผลกระทบต่อสังคมเยอะ ถ้าตั้งเป็นสภาอุตสาหกรรมโฆษณาก็จะคุมกันได้ง่ายขึ้น
“คือใครทำไม่ดีก็ให้มีการถอนใบอนุญาตไป ซึ่งผู้ที่ทำงานโฆษณาต้องมีจิตสำนึก ต้องมีจรรยาบรรณ อะไรที่ส่งผลเสียหายก็ไม่ควรกระทำ อย่าเอาแต่ขายของจนขาดจิตสำนึก ควรนำเสนอในสิ่งที่ถูกที่ควร โดยเฉพาะเด็ก-เยาวชนนั้นไม่ควรมอมเมาด้วยภาพหวิว-ภาพโป๊ ซึ่งยังมีภาพสวย ๆ งาม ๆ อื่น ๆ อีกมากมายที่นำมาใช้ได้ เป็นการนำเสนอและส่งเสริมแบบสร้างสรรค์” ...นายกสมาคมโฆษณาฯกล่าว
และปิดท้ายที่ นิโรจน์ เจริญประกอบ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ระบุว่า...
โฆษณาภาพหวิว ภาพโป๊ หรือประเภทล่อแหลม เข้าข่ายลามกอนาจาร เป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้เสื่อมเสียต่อศีลธรรม-วัฒนธรรม ที่ผ่านมา สคบ. ก็ ได้เข้มงวดกับเรื่องนี้ โดยการดำเนินการขึ้นอยู่กับคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม, กฤษฎีกา, อัยการ, สำนัก งานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ จะเป็น ผู้พิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งบางเรื่องก็อาจคลุมเครือ-ก้ำกึ่ง
“สคบ.เป็นผู้รับฟังข้อมูลและคำร้องเรียนแล้วตรวจสอบ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา หากมติชี้ว่าผิด หรือเข้าข่าย สคบ.ก็จะออกคำสั่งห้าม และลงโทษปรับ” ...รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว และว่า... ที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการกับโฆษณา เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ชุดชั้นใน, รถยนต์
“รายการทีวี” กำลังมีการพิจารณากันในเรื่อง “จัดเรต”
ก็ไม่แน่ว่าอาจจะรวมถึง “เรตโฆษณาทีวี” ด้วย ?!?!?.