1.กรุงเทพมหานคร ที่สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก ติดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
2.จ.เชียงใหม่ ที่ดาดฟ้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่
3.จ.ฉะเชิงเทรา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา อ.แปลงยาว
4.จ.นครราชสีมา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ
5.จ.สงขลา ที่ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา อ.เมือง
ซึ่งเป็นจุดสังเกตการณ์ที่จะได้เห็นคราสการบังมากที่สุดใน 5 จุดนี้ แต่ละจุดตั้งกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์สังเกตการณ์คุณภาพสูง พร้อมผู้เชี่ยวชาญจาก สดร.คอยให้ความรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคา
นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ จากโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ซึ่งได้รับกล้องโทรทรรศน์ สื่อการเรียนรู้ และอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับจัดกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้าจาก สดร.ในปีที่ผ่านมา ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ในชุมชนนับร้อยแห่ง และครั้งนี้ทุกแห่ง สดร.ได้เตรียมอุปกรณ์สังเกตดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมชมสุริยุปราคาอย่างเต็มที่ กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น. เข้าร่วมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่ www.narit.or.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจของ สดร. ที่ www.facebook.com/NARITpage
"วิธีสังเกตการณ์ที่ถูกต้อง หากสังเกตทางตรงต้องใช้กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะหรือกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสง หรือสังเกตทางอ้อมโดยใช้ฉากรับแสง สังเกตรูปร่างของเงาที่ทาบลงบนฉากนั้น สามารถใช้อุปกรณ์ที่หาได้ใกล้ตัว เช่น กระดาษทึบ เจาะรูเล็กๆ ให้แสงลอดผ่าน แล้วทาบเงาลงบนพื้นผิวอื่น จะเห็นเงาที่ทอดลงเป็นวงกลมเว้าไปบางส่วน สัดส่วนเท่ากับขนาดของคราสในเวลานั้น เรียกว่าหลักการของ "กล้องรูเข็ม" กระชอนคั้นกะทิที่มีรูเล็กๆ ลำไผ่เจาะรู หรือแม้แต่ร่มไม้ที่มีแสงแดดลอดลงมาเป็นจุดเล็กๆ ก็ใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ได้ หรือเดินทางไปที่จุดสังเกตการณ์ของ สดร. และเครือข่ายดาราศาสตร์ทั่วประเทศ ก็จะได้สังเกตเงาคมชัด ฉายผ่านกล้องโทรทรรศน์ และยังมีแผ่นฟิล์มพอลิเมอร์ดำ หรือฟิล์มไมลาร์ ซึ่งเป็นฟิล์มสีดำทึบ ใช้กรองแสงเพื่อสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ได้โดยตรง นอกจากนี้ สดร.ยังผลิต ‘แว่นตาดูดวงอาทิตย์' กว่าหมื่นชิ้น เพื่อให้ประชาชนใช้สังเกตสุริยุปราคาครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย ณ จุดสังเกตการณ์ทั่วประเทศ"
สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้ถ้าพลาดแล้วจะต้องรออีกเกือบ 4 ปี คือวันที่ 26 ธันวาคม 2562 และเมืองไทยจะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงอีกครั้งในอีก 54 ปีข้างหน้า วันที่ 11 เมษายน 2613 ซึ่งครั้งนั้นจะเป็นสุริยุปราคาครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสุริยุปราคาในชุดซารอสที่ 130 ชุดเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์ทรงคำนวณไว้ได้อย่างแม่นยำ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 และจะสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้ที่อำเภอหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจุดเดียวกันที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระราชอาคันตุกะไปทอดพระเนตรนั่นเอง