นายศรันย์ กล่าวว่า ทีมเจ้าหน้าที่ สดร. ได้ศึกษาข้อมูลและคำนวณจากภาพถ่ายจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งสองแห่ง สรุปผลเบื้องต้นว่า วัตถุนี้เคลื่อนที่สูงจากพื้นโลกไม่น้อยกว่า 70 กิโลเมตร มีความเร็วมากกว่า 70,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วปกติของดาวเคราะห์น้อยเมื่อเข้าสู่บรรยากาศโลก มีความเร็วมากกว่าดาวเทียมวงโคจรต่ำที่อาจเข้าสู่บรรยากาศโลกและเกิดการเผาไหม้ และ มีทิศทางการเคลื่อนที่จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก สวนทางกับการเคลื่อนที่ของดาวเทียมต่างๆ จึงสันนิษฐานว่าเป็น วัตถุขนาดเล็กจากนอกโลก อาจเป็นสะเก็ดดาว หรือดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลก เกิดเป็นลูกไฟ (Fireball) สว่างวาบเป็นเวลามากกว่า 20 วินาที
รองผู้อำนวยการสดร.กล่าวว่า ลูกไฟขนาดเล็กในลักษณะเช่นนี้เข้ามาในบรรยากาศโลกค่อนข้างบ่อย ปีนึงนับพันครั้ง ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ลูกไฟขนาดใหญ่ที่เข้ามาในบรรยากาศโลกในวันที่ 7 กันยายน ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นน่าตื่นเต้นแต่ไม่ต้องตกใจ ถือเรื่องปกติทางดาราศาสตร์ที่ไม่มีอันตรายและผลกระทบใดๆ ต่อโลกและมนุษย์ สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์