สำนักศิลปากรที่ 8 ขุดค้นศึกษาคุกหญิงหลังเก่ากลางเมืองเชียงใหม่พบแนวกำแพงเมืองเก่าชัดขึ้น รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้สันนิษฐานยุคสมัยพระเจ้ากาวิละ เร่งพิสูจน์ละเอียด ชี้หากเป็นเขตโบราณสถานไม่สามารถทำสิ่งใดขึ้นใหม่ทับพื้นที่ได้
นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ชุดเจ้าหน้าที่ยังเดินหน้าสำรวจพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่หลังเดิม ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว และจากการขุดเปิดหน้าดินล่าสุดพบร่องรอยของกำแพงเก่า เช่น อิฐที่มีการก่อเป็นแนว สันนิษฐานว่าอาจเป็นกำแพงหรือส่วนของสิ่งก่อสร้างอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะต้องขุดค้นและตรวจสอบให้ละเอียด อีกทั้งยังพบชิ้นส่วนของภาชนะกระเบื้องทั้งที่มีการเขียนลายและไม่มีลายจำนวนมาก เงินเหรียญสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 รวมทั้งชิ้นส่วนของทองจังโก และเครื่องลายครามของจีนในสมัยราชวงศ์หมิงและ22313ราชวงศ์ชิง ทั้งหมดจะถูกรวบรวมและตรวจสอบให้ละเอียดเช่นกัน เนื่องจากยังปะปนกันของยุคสมัยทั้งเก่าและใหม่ คาดว่าเก่าสุดน่าจะอยู่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ ประมาณปี พ.ศ.1800-2300 ซึ่งมีแนวโน้มว่าหากเป็นพื้นที่เขตโบราณสถานตามกฎหมายศิลปากรก็ไม่สามารถกระทำการสิ่งใดขึ้นใหม่ทับพื้นที่นี้ได้
นายสายกลาง อธิบายว่า การขุดค้นทางโบราณคดี หมายถึงขุดศึกษาอายุสมัยของพื้นที่ จะใช้ระยะเวลา 75 วัน จากนั้นเป็นการขุดลอกชั้นดินทับถมทางโบราณคดี คือ การขุดลอกดินที่ทับถม723โบราณสถานออก ระยะเวลา 180 วัน และการบูรณะแนวกำแพงเวียงแก้วและโบราณสถานศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ระยะเวลา 150 วัน รวมระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 480 วัน ส่วนการอนุรักษ์อาคารล่าสุดเหลือ 2 หลัง ได้แก่ อาคารเรือนพยาบาลและเรือนเพ็ญ ทางคณะทำงานของจังหวัดจะได้นำเข้าสู่ขั้นตอนการประชาพิจารณ์ก่อนพิจารณาซ่อมแซม.