ทุนศึกษาต่อต่างประเทศของรัฐบาลมีจุดมุ่งหมายสำคัญให้ผู้ที่ได้รับทุนนำความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศ ปัจจุบันมีนักเรียนทุนที่กำลังศึกษากว่า 3,000 คน
ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บอกเล่าความภูมิใจของการเป็นนักเรียนทุนแบบให้เปล่าในระดับปริญญาโท และสอบชิงทุนสำนักงาน ก.พ. ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่ University of new south Wales ประเทศออสเตรเลีย โดยตั้งปณิธานตั้งแต่ได้ทุนว่าจะ กลับมาใช้ทุนเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ทุกวันนี้จึงมีความสุขกับการนำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาถ่ายทอดให้กับนักศึกษา
เช่นเดียวกับ ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช จากจังหวัดยะลาหนึ่งในนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปศึกษาต่างประเทศกว่า 10 ปี จนจบปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา และได้กลับมาใช้ทุนเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปัจจุบันช่วยราชการในตำแหน่งรองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า เป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติที่ได้เป็นนักเรียนทุน ซึ่งก็คือเงินภาษีของคนไทยที่มอบโอกาสให้ จึงตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาประเทศ
ปัจจุบันมีนักเรียนทุนทุกประเภททั้งทุนเล่าเรียนหลวงและทุนสำนักงาน ก.พ. ของหน่วยราชการและสถานศึกษาต่าง ๆ ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก ในต่างประเทศจำนวน 3,092 คน
โดยทุนที่สำนักงาน ก.พ.ดูแลรับผิดชอบประกอบด้วย ทุนเล่าเรียนหลวงซึ่งเป็นทุนพระราชทานแบบให้เปล่าปีละ 9 ทุน ไม่จำกัดประเทศและสาขาวิชา ขณะที่ทุนรัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินปีละกว่า 1,000 ทุน ประกอบด้วยทุนระดับมัธยมศึกษา ทุนระดับปริญญาตามความต้องการของหน่วยราชการ ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุนความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและทุนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการศึกษา