สลด!แก๊งขอทานใช้เด็กยังหน้านั่งขอทาน 4 วันได้3,310 บาท

สลด!แก๊งขอทานใช้เด็กยังหน้านั่งขอทาน 4 วันได้3,310 บาท


31 ม.ค. มูลนิธิกระจกเงา ได้เปิดเผยเรื่องราวน่าตกใจเกี่ยวกับแก๊งขอทาน โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากช่วยเหลือหญิงสาวที่พาเด็กชายอายุ 9 ขวบมานั่งขอทาน จึงได้ทำการตรวจทรัพย์สินพบเงินสดจำนวน 3,310 บาท พร้อมกับโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง โดยหญิงสาวคนดังกล่าวสารภาพว่าเพิ่งมานั่งขอทานได้เพียง 4 วันเท่านั้น

วิธนะพัฒน์ รัตนาวลีพงษ์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงา เคยให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า ปัจจุบันขบวนการขอทานในเมืองไทยแบ่งเป็น 6 ประเภท ประกอบด้วยดังนี้

1.กลุ่มขอทานจากประเทศกัมพูชา ซึ่งมีมากถึง 90 % ของทั้งหมดส่วนใหญ่อพยพมาเป็นครอบครัว ทั้งผู้เฒ่าคนแก่ วัยกลางคน จนถึงลูกเล็กเด็กแดง

2.กลุ่มเด็กขายดอกไม้จากพม่า สังเกตง่ายๆว่าเป็นเด็กหน้าตาคล้ายแขกมุสลิม เดินเร่ขายดอกไม้ตามร้านอาหาร ร้านเหล้าตอนกลางคืน พวกนี้ส่วนใหญ่มาจากชายแดนตะวันตก อ.แม่สอด จ.ตาก

3.กลุ่มขอทานเด็กไทย พวกนี้จะใส่ชุดนักเรียนถือกล้องรับบริจาคเขียนภาษาไทยว่า "ค่าศึกษาเล่าเรียน" บ้างเร่ขายปากกา ที่นิยมมากที่สุดขณะนี้คือเป่าแคน ทั้งที่บ้างคนเป่าไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่

4.กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ จากข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงาระบุว่าส่วนใหญ่มาจากแถบอีสาน หลายคนเป็นชาวนาชาวไร่ หมดหน้านา ก็เดินเข้ากรุงมุ่งขอทาน เนื่องจากรายได้ดี และเชื่อว่าไม่ผิดกฎหมาย ชุมชนที่ได้ชื่อว่ามีขอทานมากที่สุดคือ ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

5.กลุ่มมิจฉาชีพ มีทั้งคนไทยและต่างด้าว พวกนี้มีทั้งขบวนการค้ามนุษย์ที่มีการใช้แรงงานเด็กมานั่งขอทาน ทั้งแกล้งพิการ แขนขาขาด ตาบอด หรือแต่งกายเป็นพระภิกษุ แม่ชี เจ้าหน้าที่มูลนิธิต่างๆ

6.กลุ่มวณิพก บางคนมีบัตรผู้พิการจริง มีฝีไม้ลายมือ มีความสามารถในเชิงดนตรี ตรวจสอบได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน แนะนำว่า พลเมืองดีสามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กเหล่านั้นได้ ด้วยการแจ้งเบาะแสแก่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนี้

1.แจ้ง ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทร.ติดต่อของผู้แจ้ง 2.ระบุให้ชัดว่าพบเด็กในพื้นที่ไหน จำนวนกี่คน 3.เวลาที่พบประมาณกี่โมง และเป็นการพบครั้งแรกหรือพบเห็นบ่อยครั้ง 4.เพศและอายุของเด็ก 5.กวาดตาสังเกตดูว่าเด็กมีบาดแผลจากการถูกทำร้าย หรือมีท่าทีหวาดกลัวหรือเปล่า 6.มีคนควบคุมเด็กอยู่บริเวณนั้นบ้างไหม 7.ถ้าสามารถถ่ายรูปได้ ขอให้ถ่ายเพื่อประกอบการแจ้งเบาะแส 8.แจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) สายด่วน 1300


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์