ส่วนรายนาม สมเด็จพระราชาคณะ ที่ มส. ได้มีมติเสนอนั้น พศ. ไม่สามารถเปิดเผยรายนามได้ พศ. มีหน้าที่ดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเท่านั้น โดย มส. ยึดการพิจารณาและเสนอนาม สมเด็จพระราชาคณะ ตามมาตรา 7 ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 เป็นหลัก
ด้านนายชยพล พงษ์สีดา รองผอ.พศ.ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามกรณีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 ระบุว่า หลังจากนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความคืบหน้าการเสนอเรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจากรัฐบาลเป็นระยะ รวมถึงจะต้องตอบข้อซักถามของรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ตนทราบว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลพศ.จะหารือกับพศ.ในวันที่ 18 ม.ค.นี้ ใน 2-3 ประเด็น เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง รวมถึงประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมาและกรณีข้อท้วงติงของกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่งทางพศ.พร้อมที่จะรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าว
ขณะที่พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย บอกว่า กรณีที่่มีผู้เรียกร้องให้รัฐบาลตีความขั้นตอนการเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นกระบวนการเพื่อสร้างเรื่องให้เกิดเงื่อนไข กวนน้ำให้ขุ่น เพื่อต้องการให้กระบวนการในการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องล่าช้า ทั้งที่ขั้นตอนต่างๆที่ทางมส. ดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกันกับเมื่อครั้งที่มีการเสนอรายชื่อสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โดยขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าทางพศ.ได้เสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ ตามมติมส.เมื่อวันที่่ 5 ม.ค. ไปยังรัฐบาลแล้ว และหากพบว่ารัฐบาลมีการดองเรื่อง พระสงฆ์ทั่วประเทศก็พร้อมที่จะนัดรวมตัวกันแสดงสังฆามติ ให้รัฐบาลได้เห็น ซึ่งขณะนี้มีกระแสตอบรับจากพระสงฆ์จำนวนมาก เหมือนกับเมื่อครั้งที่่จะนัดรวมตัวกันเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน