ชี้อุบัติเหตุปีละกว่าหมื่นคนหลับในถึง 2,800 คน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ก.ค. ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์วินัย จราจร “ง่วงเมาเราไม่ขับ นอนหลับให้พอเพียง” โดยมี นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานทุน ง่วงอย่าขับ มูลนิธิรามาธิบดีในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมงานรณรงค์ มุ่งหวังให้ลดอุบัติเหตุในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา โดย จะติดสติกเกอร์รณรงค์ที่ด้านข้างรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. เพื่อประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนประชาชนอีก ทางหนึ่ง
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่ประมาท เมาแล้วขับ
โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละ 14,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตจากการง่วงแล้วขับทำให้เกิดการหลับใน มากถึง 2,800 คน หรือประมาณ 20% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย มากถึงปีละ 20,000 ล้านบาท ซึ่งการหลับในขณะที่ขับรถทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือการชนที่ รุนแรงมากกว่าปัจจัยเสี่ยงอื่น เพราะคนหลับในจะไม่มีสติ ไม่รู้ตัว จึงไม่มีการหักหลบ หรือเหยียบเบรกแต่อย่างใด ขณะที่คนเมาแล้วขับยังพอมีสติมากกว่า จากการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์ในระบบสาธารณะทั้งรถโดยสาร ขสมก. รถโดยสาร บขส. รถจักรยานยนต์ รถตู้ และรถบรรทุกน้ำมัน ปตท. มีอัตราการง่วงแล้วขับในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน คือประมาณ 30-40% ของผู้ขับขี่ทั้งหมด ในช่วงเวลาหนึ่งบนท้องถนนจะมีคนง่วงแล้วขับมากกว่าคนเมาแล้วขับมากถึง 20 เท่า ซึ่งสาเหตุมาจากการนอนหลับไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานเป็นผลัด จะทำงานควบทั้งผลัดกลางวันและกลางคืนติดต่อกัน หรือทำงานไม่เป็นเวลา เพราะต้องการหาเงินให้ได้มากที่สุด
โดยช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุจากการหลับในพบมากใน 2 ช่วงเวลา
คือ 24.00-06.00 น. และ 14.00-17.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองพักผ่อน ไม่ทำงาน ทั้งนี้คนที่อดนอนทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ จะมีอาการเหมือนคนที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย 100 มิลลิกรัม ซึ่งการหลับในไม่มีกฎหมายควบคุม เหมือนเมาแล้วขับ ซึ่งหากรู้สึกง่วงนอนให้หยุดรถและดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง และพักนอนหลับสัก 10 นาที ค่อยขับรถต่อ.