กรมอุทยานฯเตรียมบรรจุ ตุ๊กกาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ กรมอุทยานฯเตรียมบรรจุ ตุ๊กกาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวะล้อม เปิดเผยว่า ได้มีการสำรวจพบตุ๊กแกป่าตะวันออก หรือตุ๊กกาย ในพื้นที่ป่าช่องกระบาลกระไบ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก จ.ศรีษะเกษ ซึ่งตุ๊กกายเป็นสัตว์ป่าที่กำลังถูกคุกคามอย่างมากเวลานี้ โดยเป็นสัตว์ป่าที่ยังไม่ถูกคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหัวใส จับเอามาขาย เพราะมีลวดลายสวยงาม พบมากในตลาดค้าสัตว์บริเวณชายแดน หรือแม้กระทั่งตลาดนัดจตุจักร
ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ตุ๊กกายเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Gekkonidae สกุล Cyrtodactylus ปัจจุบันมีรายงานพบในประเทศไทยแล้วประมาณ 30 ชนิด และยังรอการจำแนกอีกหลายชนิด เนื่องจากมีผู้ศึกษาสัตว์กลุ่มนี้น้อย จึงยังขาดข้อมูลในการจำแนกชนิด และนิเวศวิทยา มีลักษณะคล้ายจิ้งจกและตุ๊กแกบ้าน แต่มีส่วนสำคัญที่แตกต่างกัน คือ มีนิ้วเท้าและเล็บที่แหลมยาวใช้ในการปีนป่ายคล้ายกับกิ้งก่า และไม่มีแผ่นดูด เหมือนตุ๊กแกบ้านหรือจิ้งจก จึงไม่สามารถดูดติดเกาะผนังได้ ลำตัวมีสีสันและลวดลายสวยงามแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ประมาณ 30 เซนติเมตร เช่น ตุ๊กแกป่ามลายู (Cyrtodactylus Consobrinus) ซึ่งพบในภาคใต้ของประเทศไทย กินแมลงเป็นอาหาร สามารถพบเห็นได้ในช่วงเวลากลางคืน และแต่ละชนิดมีที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันไป บางชนิดพบได้บริเวณต้นไม้ใกล้กับแหล่งน้ำ อาทิ ตุ๊กแกป่าตะวันออก (Cyrtodactylus Intermedius) บางชนิดพบในถ้ำ ใต้ก้อนหินซอกหินต่างๆบางชนิด พบได้เฉพาะภูเขาสูงเท่านั้น เช่น ตุ๊กแกป่าดอยสุเทพ (Cyrtodactylus Doisuthep) บางชนิดที่ปรับตัวได้ดีสามารถอาศัยในพื้นที่เกษตรกรรม ในสวนยางพาราที่มีความชื้นสูงได้ เช่น ตุ๊กแกป่าตุ่มใหญ่ (Cyrtodactylus Macrotuberculatus) บางชนิดอาศัยอยู่บริเวณภูเขาหินปูน เช่น ตุ๊กแกป่ากันยา (Cyrtodactylus Kunyai) เป็นต้น
นางเตือนใจ กล่าวว่า เนื่องจากตุ๊กแกป่ามีความหลากหลาย ทั้งชนิดและถิ่นที่อยู่อาศัย การรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยไว้ จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์สัตว์ป่ากลุ่มตุ๊กแกป่า จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งการสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้างต่างๆ ล้วนต้องอาศัยปูนจากภูเขาหินปูนซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์กลุ่มนี้ บางชนิดอาจจะเป็นชนิดใหม่ยังไม่ถูกค้นพบ จึงควรมีการสำรวจ ศึกษาก่อนให้มีการสัมปทาน เวลานี้ กรมอุทยานฯกำลังบรรจุชื่อตุ๊กแกป่า ลงไปในบรรจุสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองเหมือนสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2559 นี้