แฟลตดินแดงไม่จบ-2ฝ่ายตกลงไม่ได้
ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 ก.ค. มีการประชุมรับฟังความเห็นชาวแฟลตดินแดงต่อกรณีที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จะรื้อและสร้างใหม่ อาคารแฟลตดินแดง 1-8 และอาคาร 21-32 รวม 20 หลัง โดยในวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นในส่วนผู้อยู่อาศัยอาคารที่ 1-8 ซึ่งมีประชาชนกว่า 200 คนเข้าร่วม พร้อมมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจ นายพรศักดิ์ บุญโยดม ผู้ว่าการ กคช. และนายขวัญสรวง อติโพธิ กรรมการ กคช. เป็นผู้ทำความเข้าใจและชี้แจงประชาชน
นพ.พลเดช กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ฟันธงว่าจะไปทางซ้ายหรือขวา แต่ต้องการให้มีการพูดคุยกันก่อนในเรื่องนี้ทั้ง กคช. และชาวแฟลตดินแดงมีความทุกข์ทั้ง 2 ฝ่าย กคช. ในฐานะดูแลอาคารก็ต้องดูในเรื่องความปลอดภัย ส่วนชาวแฟลตดินแดงก็ทุกข์ในเรื่องความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย จึงเป็นเรื่องดีที่จะมีการพูดคุยกัน อย่าเพิ่งใจร้อนรีบตัดสินใจว่าจะไปซ้ายหรือขวา จุดยืนของ พม. และ กคช. คือความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน และ พม.ได้ให้นโยบายไปว่า กคช. ต้องทำงานร่วมกับชุมชน ในฐานะ รมช.พม. ก็จะยืนข้างประชาชนและคาดหวังว่า กคช. จะทำงานร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี
นายพรศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้มีการหารือและหาความเห็นร่วมกัน ไม่อยากให้คิดเรื่องทุบหรือไม่ทุบ ตอนนี้ กคช. มองอยู่ 2 ประเด็น คือถ้าจะทำอะไรก็ตามคนที่อยู่ที่ดินแดงต้องได้อยู่ที่ดินแดง และหากจะมีการพัฒนาโครงการในอนาคต กคช. ต้องทำเพื่อสังคมและไม่แสวงหากำไร อย่างไรก็ตามเรื่องซ่อมได้หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น เพราะในทางวิชาการทุกอย่างสามารถซ่อมอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือ กคช. เป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย และพิจารณาว่าควรจะซ่อมหรือไม่ เนื่องจากขณะที่ซ่อมอยู่อาจจะมีความเสียหายเพิ่ม ถ้ามีการซ่อมก็ต้องซ่อมเรื่อย ๆ มีความอันตรายสูงขึ้นๆ ไม่ควรเสี่ยง จึงต้องการให้มีความเห็นร่วมกันก่อนจะสรุปเรื่องสั่งให้ รมต.ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในการรับฟังความคิดเห็นว่า ภายหลังนายพรศักดิ์และนายขวัญสรวงได้ชี้แจงเรื่องต่าง ๆ แล้ว ได้มีผู้อยู่อาศัยฯ เพียง 2-3 คน หมุนเวียนกันลุกขึ้นอภิปรายโดยระบุว่าไม่ต้องการให้ทุบแฟลตดินแดง และโจมตี กคช. ว่าตั้งธงในเรื่องการทุบไว้แล้ว และที่ผ่านมา กคช. ไม่เคยนำรายได้ที่เก็บจากผู้อยู่อาศัย รวมทั้งงบประมาณกลับมาซ่อมแซมแฟลต จากนั้นได้มีการแบ่งผู้ประชุมเป็นกลุ่มย่อย 8 กลุ่ม และมีประชาชนบางส่วนเดินออกจากห้องประชุม โดยแต่ละกลุ่มต้องการให้ซ่อม พร้อมจัดหาที่อยู่ใหม่ในรัศมี 1 กิโลเมตร รวมทั้งค่าชดเชย และพื้นที่ใช้สอยใหม่ไม่น้อยกว่า 40 ตารางเมตร และขอเวลาเตรียมใจ 1-2 ปี
นายขวัญสรวงกล่าวสรุปผลการประชุมกลุ่มย่อยว่า ทราบความต้องการของผู้อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งปัญหานี้มีอยู่ว่าจะซ่อมหรือสร้างชุมชนใหม่ ซึ่งตนไม่ขอใช้คำว่าทุบทิ้งเพราะฟังดูร้ายกาจเกินไป แต่ก็เห็นช่องทางในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาคนดินแดงไม่เคยมองเห็นปัญหาของกันและกันเอง จึงถือว่าเราเป็นตัวกลางให้ หวังว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน เพื่อหาคำตอบร่วมกันและต้องพูดจากันให้หนักขึ้น เพื่อให้เกิดความเห็นพ้องกันว่าจะไปในทิศทางใด และต้องมองกันให้ลึกว่าทุบหรือซ่อม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าได้มีชาวแฟลตดินแดง นำโดยนายรัชฤกษ์ เปาโรหิต แกนนำกลุ่มได้นำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง มาจอดปักหลักชุมนุมริมถนนมิตรไมตรี หน้ากระทรวงแรงงาน โดยมีผู้ชุมนุมกว่า 100 คน มาร่วมรับฟัง โดยแกนนำกลุ่มได้ประกาศชักชวนชาวบ้านว่าอย่าไปเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากหวั่นว่าจะตกเป็นเครื่องมือของ กคช. ซึ่งจะขอยึดผลการตรวจสอบของ 3 องค์กรวิชาชีพที่ระบุว่าแฟลตดินแดงซ่อมแซมได้ และขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นที่แฟลต โดยขอตัวแทนแค่ 4 ฝ่ายคือ กคช. ชาวแฟลต รมต. และสื่อมวลชน
นายรัชฤกษ์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดพิธีฌาปนกิจศพ โดยการเผาหุ่นพร้อมโลงศพจำลองของนายพรศักดิ์ แล้วจับวิญญาณถ่วงน้ำ โดยยืนยันว่าในวันที่ 15 ก.ค.นี้ จะไม่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและจะทำการชุมนุมเพื่อทำพิธีฌาปนกิจหุ่นนพ.พลเดช และนายขวัญสรวง ด้วย อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามเข้าไปภายในกระทรวงแรงงานแต่เจ้าหน้าที่กั้นไว้ ทำให้เมื่อมีรถของกคช.ผ่านกลุ่มผู้ชุมนุมก็โห่ร้อง ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ามีรถตู้ประมาณ 10 คัน ที่วิ่งเข้าออกกระทรวงเพื่อรับส่งประชาชนที่มารับฟังความคิดเห็น โดยคาดว่ากลุ่มประชาชนเหล่านั้นน่าจะเป็นพวกถูกจัดตั้งมากกว่า ไม่น่าจะใช่ชาวแฟลตตัวจริงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ในเวลา 10.30 น. นายอภิชาติ หาลำเจียก สมาชิกสภา กทม. ได้เดินทางมาให้กำลังใจผู้ชุมนุม พร้อมกับกล่าวว่า ตนแปลกใจที่ กคช. ไม่เชิญมาร่วมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จึงได้มาปราศรัยข้างถนนร่วมกับชาวแฟลตดินแดง ถ้ามองอย่างนักลงทุนตนมองว่าพื้นที่แฟลตดินแดงน่าลงทุน เพราะสามารถสร้างใหม่แบบหรูหราได้ แต่ถ้าจะทุบจริงก็ควรสร้างที่อยู่สำรองเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่หากเดินหน้าว่าจะทุบอย่างเดียวก็จะเป็นการสวนทางกับผลการสำรวจของทั้ง 3 องค์กรที่บอกว่าสามารถซ่อมได้.