อย.เผย นศ.แพทย์กินเตี๋ยวปลาปักเป้าป่วยจริง

นักศึกษาแพทย์ล้มป่วยเพราะกินก๋วยเตี๋ยวปลาปักเป้า


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ “อย.” เผย นศ.แพทย์ 3 คน กินก๋วยเตี๋ยวปลาปักเป้าป่วยจริง แต่อาการไม่หนัก แค่พักรักษาตัว 1 วัน ส่วนพยาบาลที่เสียชีวิต ไม่เพราะท้องร่วงรุนแรง-ไม่เกี่ยวปลาปักเป้า คาดปลาทะเลลดน้อยเลยต้องจับปักเป้าแล่ขาย แนะติดฉลากให้ชัดเจน เตรียมบุกตรวจโรงงานลูกชิ้นปลา


นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า

อย.ได้ติดต่อประสานข้อมูลกับ นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล อจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแจ้งว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 3 คน รับประทานก๋วยเตี๋ยวปลา ที่โรงอาหาร แล้วเกิดอาการชาที่นิ้วมือ นิ้วเท้า และไม่มีแรงจริง แต่อาการไม่หนักมาก พักรักษาตัว 1 วัน ก็สามารถกลับไปเรียนได้ตามปกติ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เนื้อปลาที่แม่ค้าในโรงอาหารนำมาใช้ เป็นเนื้อปลาที่ซื้อมาจากตลาดบางกะปิ โดยแม่ค้าปลาบอกกับแม่ค้าก๋วยเตี๋ยวว่า เป็นเนื้อปลาช่อนทะเล


รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า


หลังจากวันที่เด็กป่วยอีก 1 วันถัดมา ทางคณะแพทย์ได้ไปเก็บตัวอย่างเนื้อปลาที่ตลาดบางกะปิ และส่งไปให้กรมประมงตรวจสอบ โดยทางเจ้าหน้าที่ของกรมประมงได้แจ้งข้อมูลเบื้องต้นมายัง นพ.นรินทร์ ว่า จากการศึกษาลักษณะภายนอก คือ ลักษณะเส้นใยแล้วคาดว่าเนื้อปลาชนิดดังกล่าวน่าจะเป็นปลาปักเป้า ส่วนผลการตรวจสอบสารพิษคาดว่าผลการตรวจสอบจะออกใน 2 สัปดาห์


นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า

อย่างไรก็ตามในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นมีพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เสียชีวิต แต่จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าไม่ได้เกี่ยวกับการรับประทานปลาปักเป้า แต่เป็นจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต พยาบาลคนดังกล่าวมีอาการท้องเสียรุนแรงติดต่อกัน 3 วัน ซึ่งไม่รู้ไปรับประทานอะไรมาก แต่คนที่เขียนอีเมล์และส่งต่อ ๆ กันอาจจะนำ 2 เรื่องมาผสมกัน ซึ่งตนขอย้ำว่า การเสียชีวิตของพยาบาลไม่เกี่ยวกับการรับประทานลูกชิ้นปลาแต่อย่างใด จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ามีการรับประทานลูกชิ้นปลาแล้วเสียชีวิต อีกทั้งสิ่งที่ อย.คุมเข้ม คือ เรื่องของสารบอแรกซ์ และสีที่มีการผสมในลูกชิ้นปลา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบโรงงานอย่างต่อเนื่อง


ผู้สื่อข่าวถามว่า


กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศห้ามจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้าแต่ทำไมยังมีการฝ่าฝืนอยู่  นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า แม้จะมีประกาศห้าม แต่โดยข้อเท็จจริงอาจมีผู้ประกอบการบางส่วนที่แล่เนื้อปลาปักเป้าส่งขาย หรือรับประทานกันในพื้นที่ เพราะเขารู้ว่าปลาปักเป้าชนิดไหนกินได้หรือกินไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปลาในทะเลน้อยลง นั่นเอง แต่ปัญหา คือ เมื่อมีการห้ามจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้า ทำให้ประชาชนไม่ทราบว่าเนื้อปลาที่รับประทานเป็นปลาอะไร ตนคิดว่า หากปลาปักเป้าชนิดไหนที่รับประทานได้ ในอนาคตถ้ายังมีการนำมาจำหน่ายก็ควรทำให้ถูกต้อง โดยมีการติดฉลากเพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าปลาที่จำหน่ายเป็นปลาปักเป้า “จากข่าวที่เกิดขึ้นทำให้พี่น้องประชาชนไม่กล้ารับประทานลูกชิ้นปลา ดังนั้นในวันที่ 11 ก.ค. ทาง อย.จะเดินทางไปดูโรงงานลูกชิ้นปลา เพื่อให้ดูกระบวนการผลิต ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันจะถือโอกาสตรวจคุณภาพความสะอาดของโรงงานที่ผ่านจีเอ็มพีว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่”นพ.นิพนธ์ กล่าว


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์