นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี
และ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย” ครั้งที่ 3 ว่า การจัดทำยุทธศาสตร์จะนำไปสู่นโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัย การอยู่อาศัยของคนทั้งประเทศ โดยมีเป้าหมาย 5 ข้อ คือ 1. ที่อยู่อาศัยพอเพียงกับจำนวนประชากร 100% 2. มีความมั่นคง 3. มีคุณภาพพอประมาณ 4. มีความเหมาะสม และ 5. มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยมีปัญหาชุมชนแออัดอยู่หลายพันแห่งทั่วประเทศ เฉพาะ กทม. มีชุมชนแออัดกว่า 1,000 แห่ง ดังนั้น ต้องมีนโยบายและคณะกรรมการระดับชาติที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา
แฉ กรุงเทพฯ ล้าหลังเรื่องที่อยู่อาศัย
ด้าน พล.ท.เอกชัย ศรีวิลาศ
หัวหน้าสำนักงานคลังสมอง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร กล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้รัฐต้องจัดหาที่อยู่อาศัยให้คนไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลใดกำหนดนโยบายด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนและแถลงต่อรัฐสภาเป็นรูปธรรม หากดูจากดัชนีชี้วัดขององค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นดีพี
ระบุว่าจังหวัดที่มีพื้นที่ล้าหลังเรื่องที่อยู่อาศัยของไทยมี 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ รวมทั้งกรุงเทพฯด้วย เนื่องจากประสบปัญหาการแออัดของแรงงานที่ไหลเข้าพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก จนไม่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ และพบว่ากรุงเทพฯมีการสร้างที่อยู่อาศัยมากกว่า 3 ล้านหน่วย โดย 95% เอกชนเป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนการสำรวจดัชนีชี้วัดเรื่องที่อยู่อาศัยและความสุขประชากรของประเทศ พบว่ามีขีดความสามารถลดลงจากอันดับ 29 เป็น 33
“ปัญหาประชากรของประเทศขยายตัวสูงมาก
ทั้งแรงงานต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศจำนวนมาก ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในปี 2563 จะมีประชากรอายุ 55 ปีขึ้นไป ไม่ต่ำกว่า 50% คนละทิ้งถิ่นฐานเข้าเมือง ดังนั้น ต้องพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับให้ได้ทุกรูปแบบ สร้างศูนย์กลางหมู่บ้านที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน เรื่องยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา ที่อยู่อาศัยต้องขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการที่อยู่อาศัยแห่งชาติ เพื่อบริหารและวางแนวทางการพัฒนาและแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย” พล.ท.เอกชัยกล่าว.