นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าหนาวมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีอากาศหนาวเย็น โดยที่พักบริเวณอุทยานแห่งชาติหรือตามรีสอร์ทต่างๆ ที่มีไฟฟ้าไม่เพียงพอมักใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ซึ่งข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2551-2558 ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม พบรายงานผู้ป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำด้วยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จำนวน 23 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 6 ราย และในเดือนมกราคม 2558 มีรายงานผู้ป่วยสัมผัสแก๊สจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส จำนวน 4 เหตุการณ์ในจังหวัดภาคเหนือ พบผู้ป่วย 10 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยสาเหตุมาจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สเผาไหม้ออกซิเจนเพื่อทำความร้อน ในขณะเดียวกันก็สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์ขึ้น เมื่อสูดดมเข้าจะทำให้เม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้น้อยลง ร่างกายขาดออกซิเจนทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และเสียชีวิตได้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเลือดจาง หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง หากได้รับแก๊สพิษมีโอกาสเสียชีวิตสูง
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ประกอบการสถานที่พัก ควรระมัดระวังในการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยดังนี้
1) เลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีตรารับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. และบำรุงรักษาเครื่องทำน้ำอุ่นให้ถูกต้อง ปลอดภัย ตรวจสอบคุณภาพตามที่กำหนดในคู่มือใช้งานสม่ำเสมอ
2) ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สในห้องน้ำที่มีพื้นที่กว้างเพียงพอ คือ ความสูงระหว่างพื้นห้องน้ำถึงเพดานต้องไม่น้อยกว่า 2 เมตร ขนาดพื้นที่ภายในไม่น้อยกว่า 1.50 ตารางเมตร มีช่องลมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ห้อง หรือมีพัดลมระบายอากาศ ประตูมีกลอนหรือลักษณะอื่นใดที่สามารถเปิดจากข้างนอกได้
3) การติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ควรติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นไว้นอกห้องน้ำ ถังแก๊สต้องตั้งบนพื้นราบและมีอากาศถ่ายเท
4) เจ้าของโรงแรม รีสอร์ต หรือที่พักอื่นใด ควรแจ้งผู้เข้าพักและผู้ที่ใช้ห้องน้ำให้ทราบอันตรายและวิธีการใช้ โดยติดป้ายเตือนไว้อย่างชัดเจน ติดป้ายเตือนหน้าห้องน้ำว่า ให้เปิดพัดลมดูดดอากาศทุกครั้งที่ใช้น้ำอุ่น ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ติดตั้งสวิตซ์พัดลมให้พ่วงกับสวิตซ์ไฟฟ้าแสงสว่างเพื่อป้องกันการลืมเปิดพัดลมดูดอากาศ และ
5) ดูแลตรวจสอบการรั่วและปริมาณการสะสมของแก๊สในสถานที่พักโดยเฉพาะในห้องน้ำ ด้วยการตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่ให้เกินระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือ ออกซิเจน น้อยกว่า ร้อยละ 19 ppm หรือมากกว่า ร้อยละ 23 ppm คาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่า 5,000 ppm และคาร์บอนมอนนอกไซด์ มากกว่า 1,000 ppm
"สำหรับประชาชนผู้เข้าพักอาศัยหรือผู้ที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดขณะอาบน้ำ หากพัดลมดูดอากาศไม่ทำงานควรหลีกเลี่ยงการใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส และควรมีคนอยู่ด้วยในบริเวณนั้นเพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันที กรณีอาบน้ำติดต่อกันหลายคนให้เปิดพัดลมดูดอากาศและเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที ถ้าไม่มีพัดลมดูดอากาศควรเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที ทั้งนี้ ให้สังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่างใช้ห้องน้ำ เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด และหายใจลำบาก ควรรีบออกจากห้องน้ำหรือให้การช่วยเหลือทันที หรือหากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ควรรีบเปิดประตู ปิดเครื่องทำน้ำอุ่น ออกจากห้องน้ำและแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที" นายแพทย์วชิระ กล่าวในที่สุด
ที่มา: กรมอนามัย