ก.การท่องเที่ยวฯติดอันดับท็อปเทนปชช.พอใจสูงสุด
ก.การท่องเที่ยวฯติดอันดับท็อปเทนปชช.พอใจสูงสุด |
8 กรกฎาคม 2550 12:59 น. |
ปชช. ส่วนใหญ่ไม่พอใจ การแก้ไขปัญหาใน 3 จว.ใต้ ปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด ความล่าช้าในการทำงาน และการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ขณะที่ ก.การท่องเที่ยวฯ ติดอันดับท็อปเทนที่ประชาชนพอใจสูงสุด ส่วนสำนักนายกฯ รั้งลำดับสุดท้าย แต่ยังต้องการให้ "สุรยุทธ์" อยู่ต่อเพื่อนำประเทศไปสู่การเลือกตั้ง (8 ก.ค.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (The ABAC Social Innovation in Management and Business Analysis) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรต่อผลงานของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีแรก: กรณีศึกษาประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา” จำนวนทั้งสิ้น 2,404 ตัวอย่าง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้ มีดังนี้ ดร.นพดล กล่าวว่า ตัวอย่างร้อยละ 79.0 ระบุติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 17.3 ระบุติดตามเป็นบางสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 3.7 ระบุไม่ได้ติดตามเลย ทั้งนี้เมื่อสอบถามตัวอย่างถึงปัญหาหรือภารกิจเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไข/เร่งดำเนินการนั้น ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 96.3 ระบุปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 94.1 ระบุปัญหายาเสพติด ร้อยละ 90.7 ระบุปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 89.1 ระบุการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา และร้อยละ 88.9 ระบุปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขอย่างเร่งด่วน อาทิ ตัวอย่างร้อยละ 88.5 ระบุปัญหาเศรษฐกิจ และภาวะหนี้สินและปัญหาการมั่วสุมรวมกลุ่มกันของเด็ก/เยาวชน ร้อยละ 85.7 ระบุการสร้างสมานฉันท์ในสังคม ร้อยละ 80.5 ระบุการช่วยเหลือคนพิการ/คนด้อยโอกาส/ผู้สูงอายุ และร้อยละ 79.7 ระบุควบคุมการจำหน่ายสุราและบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษา ตามลำดับ สำหรับผลงานของรัฐบาลที่ประชาชนพอใจนั้น ร้อยละ 39.7 ระบุพอใจในผลงานการสร้างความสมานฉันท์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในขณะที่ร้อยละ 26.4 ระบุพอใจในผลงานเรื่องการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น /การอายัดทรัพย์สิน ร้อยละ 16.4 ระบุพอใจในเรื่องการปราบปรามเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ อาทิ เทปผีซีดีเถื่อน ร้อยละ 12.2 ระบุพอใจในเรื่องการปราบปรามยาเสพติด และร้อยละ 8.8 ระบุพอใจในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจพบว่า ผลงานของรัฐบาลที่ประชาชนไม่พึงพอใจ 5 อันดับแรกได้แก่ การแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ร้อยละ 49.3 ระบุไม่พอใจ) การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (ร้อยละ 30.2 ระบุไม่พอใจ) การแก้ไขปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 15.0 ระบุไม่พอใจ) ความล่าช้าในการทำงาน (ร้อยละ 9.0 ระบุไม่พอใจ) และการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น (ร้อยละ 8.4 ระบุไม่พอใจ) และเมื่อพิจารณาความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อผลงานของกระทรวงต่างๆโดยภาพรวม พบว่า กระทรวงที่ประชาชนพอใจในผลงานมากที่สุด 10 อันดับแรกหรือ ท็อปเทน ได้แก่ อันดับที่หนึ่ง คือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร้อยละ 55.2 อันดับที่สองได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 52.7 อันดับที่สามได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร้อยละ 52.0 อันดับที่สี่ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร้อยละ 51.0 อันดับที่ห้า ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม ร้อยละ 50.5 อันดับที่หก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 46.3 อันดับที่เจ็ด ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม ร้อยละ 46.2 อันดับที่แปด ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันดับที่เก้า ได้แก่ กระทรวงพลังงาน ร้อยละ 45.0 และอันดับที่สิบได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 44.6 ในขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรีมีประชาชนพอใจในสัดส่วนที่ต่ำสุดจาก 20 หน่วยงาน คือได้ร้อยละ 35.1 อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความพอใจโดยภาพรวมต่อผลงานของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้น พบว่า ร้อยละ 46.0 พอใจ ร้อยละ 37.4 ไม่พอใจ และร้อยละ 16.6 ไม่มีความเห็น ทั้งนี้ในกลุ่มพลังเงียบพบว่าร้อยละ 43.6 พอใจ ร้อยละ 37.5 ไม่พอใจ และร้อยละ 18.9 ไม่มีความเห็นต่อผลงานของนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อสอบถามตัวอย่างต่อไปถึงความต้องการต่อนายกรัฐมนตรีกรณีให้ลาออกตามข้อเรียกร้องของฝ่ายชุมนุมต่อต้านหรือต้องการให้อยู่ต่อเพื่อนำพาประเทศไปสู่การเลือกตั้งนั้น ผลการสำรวจพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.0 ระบุต้องการให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อเพื่อนำพาประเทศไปสู่การเลือกตั้ง ในขณะที่ร้อยละ 19.7 ระบุให้ลาออกตามข้อเรียกร้องของฝ่ายชุมนุมคัดค้าน และร้อยละ 25.3 ไม่ระบุความคิดเห็น สำหรับความคิดเห็นของตัวอย่างกรณีการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้จริงหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 58.9 ระบุคิดว่าช่วยได้ ในขณะที่ร้อยละ 16.9 ระบุไม่ได้ และร้อยละ 24.2 ไม่แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว |