คำสรุปเรื่องดาวตกวานนี้ จากสมาคมดาราศาสตร์
วรเชษฐ์ บุญปลอด (กรรมการวิชาการ)7 กันยายน 2558
จากกรณีปรากฏการณ์ลูกไฟสว่างบนท้องฟ้า วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลาประมาณ 08:40 น. ซึ่งมีรายงานว่ามองเห็นได้จากหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ อุทัยธานี กาญจนบุรี
จากข้อมูลที่รวบรวมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคลิปวิดีโอ ลักษณะที่ปรากฏโดยเห็นพุ่งเป็นทางยาวและมีความเร็วสูง เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากที่เกิดจากสะเก็ดดาวหรือดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กพุ่งเข้าสู่บรรยากาศ ลักษณะคล้ายปรากฏการณ์เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558 แต่ครั้งนี้น่าจะเกิดจากสะเก็ดดาวที่มีขนาดใหญ่กว่า เนื่องจากสว่างจนเห็นได้ในเวลากลางวัน
ดาวตกเกิดขึ้นเป็นประจำ ส่วนใหญ่ดาวตกที่เราเห็นในเวลากลางคืนเกิดจากสะเก็ดดาวขนาดเล็ก นาน ๆ จึงจะมีสะเก็ดดาวขนาดใหญ่เข้ามา
ซึ่งยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งสว่าง ประกอบกับการที่พื้นโลกเป็นพื้นน้ำถึง 3 ใน 4 และคนอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่กระจายทั่วทั้งโลก ทำให้ดาวตกที่สว่างมากส่วนใหญ่เกิดในบริเวณห่างไกลจากผู้คน หากบังเอิญมาตกในเขตเมืองใหญ่ ก็ทำให้มีโอกาสที่คนจำนวนมากสามารถมองเห็นได้ ส่วนสาเหตุที่เห็นได้เป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากดาวตกอยู่สูงจากพื้นโลกราว 50-100 กิโลเมตร
ตำแหน่งและพลังงานที่เกิดจากการชนของดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กในช่วง พ.ศ. 2537-2556 สีเหลืองคือที่เกิดในเวลากลางวัน
สีน้ำเงินคือที่เกิดในเวลากลางคืน พลังงานแปรผันตามมวลและความเร็วของวัตถุ โดยดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนมีขนาดราว 1 เมตร ถึงเกือบ 20 เมตร เมื่อระเบิดในบรรยากาศ ทำให้เห็นเป็นดาวตกที่สว่างมาก เรียกว่าดาวตกชนิดระเบิด หรือโบไลด์ (bolide) ข้อมูลที่ได้นี้ส่วนหนึ่งได้จากเครือข่ายตรวจวัดคลื่นเสียงเพื่อเฝ้าระวังการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก (ภาพ - NASA)
ข้อมูลจาก http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/20150907fireball.html
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!