"วิจิตร"หนุน กยศ.ฟ้องผู้กู้เบี้ยวหนี้กองทุนยืมเรียน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะถึงขึ้นยึดทรัพย์ ด้าน ผช.ผจก.กยศ.แจงคนค้างชำระหนี้ส่วนใหญ่จบมหาวิทยาลัยในภาคอีสาน
จากกรณีที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จ้างสำนักงานทนายความทั่วประเทศ 129 แห่ง วงเงิน 390 ล้านบาท ฟ้องร้องผู้กู้กองทุน กยศ.ที่ค้างชำระหนี้ติดต่อกัน 4 ปี และผู้ค้ำประกัน รวม 6.9 หมื่นราย ก่อนจะหมดอายุความ 5 ปี ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ไม่เห็นด้วยกับส่งรายชื่อผู้ค้างชำระหนี้เหล่านี้เข้าบัญชีเครดิตบูโรนั้น
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า
การที่ กยศ.ทยอยฟ้องร้องผู้ค้างชำระหนี้ 6.9 หมื่นรายนั้น เป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีเหตุมีผล และเป็นวิธีปกติเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของแผ่นดิน เพราะไม่ใช่เงินส่วนตัว โดยผู้ถูกฟ้องควรจะกลับมาเจรจา ส่วนการสร้างจิตสำนึกนั้น ได้รณรงค์มาโดยตลอด ซึ่งจิตสำนึกในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องมี ไม่ใช่เพิ่งมาสร้างจิตสำนึกตอนเป็นหนี้ กยศ.แต่ทั้งหมดต้องดูเหตุผลความจำเป็น
ผมไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่กับเรื่องนี้ เพราะคนที่ไม่ยอมชำระหนี้มีแค่ 7 หมื่นคน จากผู้กู้ 2.6 ล้านคน
ซึ่งในระบบเงินยืมเพื่อการศึกษาทั่วโลกมีการสูญเสียทั้งนั้น เพราะให้กู้ผู้ที่ไม่มีรายได้ เพราะไม่สามารถหางานทำได้ ดังนั้น เมื่อตอนเริ่มโครงการจึงเตรียมใจกันแล้วว่าต้องสูญเสียบ้าง เพียงแต่ให้สูญเสียน้อยที่สุด และประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกเกี่ยวกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในบางประเทศ พบว่าไม่ได้คืนถึง 50% ดังนั้น ผมจึงชื่นชมคนไทยที่จบการศึกษาใหม่ๆ ที่ใช้คืนเมื่อถึงเวลา กว่า 65% ถือเป็นอัตราส่วนที่สูง แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ใช้ได้ ฉะนั้น ที่มีปัญหาถือเป็นตัวเลขเพียงหยิบมือเดียวของผู้กู้ นายวิจิตรกล่าว