จากนั้นนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีนายอดิศักดิ์ วรรณสิน ตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์พระธัมมชโย เป็นตัวแทนยื่นหนังสือ โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่าประเด็นเรื่องพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างถึง เป็นคำแนะนำไม่มีผลบังคับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และมหาเถรสมาคมได้นำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ปี 2542 การรื้อฟื้นเรื่องที่เสร็จสิ้นไปแล้วจึงถือว่าขัดหลักนิติธรรม และฝ่าฝืนพระธรรมวินัย ส่วนกรณีที่อัยการสูงสุด ถอนฟ้องก็เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย และศาลก็ได้อนุญาตให้ถอนฟ้องแล้ว เท่ากับศาลเห็นว่าถูกต้องเหมาะสมที่จะอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ และไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะเสนอให้ตั้งคณะทำงาน หรือคณะกรรมการมาดำเนินการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ให้เป็นที่เสียหายแก่ระบบการปกครอง ทั้งศาสนจักร และอาณาจักรอีกต่อไป และถือว่าไม่ยุติธรรมต่อพระธัมมชโย ทั้งยังจะสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชน อันจะขัดต่อนโยบายปรองดองของ คสช. จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทบทวน และยุติการดำเนินการกรณีดังกล่าว
ด้านนายรักษเกชา กล่าวชี้แจงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินยินดีที่จะรับเรื่องนี้ไว้ และจะให้ความเป็นธรรมในการพิจารณา ซึ่งการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด และพร้อมที่จะรับข้อมูลหลักฐานโต้แย้งเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวมีผู้ยื่นร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินต้องตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ หากไม่ตรวจสอบก็จะถือว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนกรณีการถอนฟ้องของ อสส.ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจไปตรวจสอบ อย่างไรก็ตามตนจะนำเรื่องนี้เสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาต่อไป.