หมอแมว-จ่าพิชิต ตอบดราม่า ปั๊มหัวใจฉุกเฉินด้วยเท้าไม่ผิด

หมอแมว-จ่าพิชิต ตอบดราม่า ปั๊มหัวใจฉุกเฉินด้วยเท้าไม่ผิด


20 ก.ค. 58 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อสมาชิกเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า "ล่าฝันที่ปลายฟ้า อุทิศตนเพื่อสังคม" ได้เผยแพร่ภาพเหตุการณ์อุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งชายคนหนึ่งพยายามช่วยเหลือ โดยการใช้เท้าเหยียบไปที่บริเวณหน้าอกของผู้บาดเจ็บเพื่อทำการปั๊มหัวใจ จึงเกิดการโต้เถียงกันระหว่างชาวเน็ตว่า การปฐมพยาบาลดังกล่าวเป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่

ล่าสุด นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา แพทย์แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลยันฮี อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก หมอแมว ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊คว่า "นวดหัวใจด้วยเท้า เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ยามคับขัน เวลาคนหัวใจหยุดเต้น สิ่งที่ควรทำคือ นวดหัวใจ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมอง การนวดที่ดีคือ กดหน้าอกให้ลึกลงไป 2-3 นิ้ว เร็ว 100 ครั้งต่อนาที แต่ปัญหาที่เราทราบกันดีคือ คนไทยนวดหัวใจเป็นน้อยมาก และจากงานวิจัยก็พบว่า หากนวดคนเดียวติดต่อกันเกิน2นาที แรงจะหมด และหลังจากนั้นก็จะเริ่มกดไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีการคิดวิธีนวดหัวใจด้วยการใช้เท้า แม้ไม่ใช่มาตรฐานที่ควรทำ แต่ก็ใช้ได้ในยามคับขันเช่น 1) อยู่สองคน ขอความช่วยเหลือไม่ได้ หรือขอแล้วไม่มีคนกล้าช่วย 2) ภัยพิบัติ ตึกถล่ม ช่องที่เข้าไปถึงตัวคนเจ็บแขนไม่ถึง หรือถูกอัดทับเคลื่อนย้ายไม่ได้จริงๆ

การปั้มหัวใจ ต้องทำในทันทีที่หัวใจหยุดเต้น หากรอช้าคนไข้อาจตายหรือพิการได้ แต่ทั้งนี้ใครจะทำแบบนี้ควรมีความรู้ในการนวดหัวใจ เพราะต้องวางส้นเท้าให้ถูก ต้องกะแรงให้ดี และต้องมีความกล้า เพราะไทยเรายังเป็นดินแดนที่แม้หมอพยาบาลจะปั้มหัวใจคนที่จมน้ำไม่ให้อุ้มพาดบ่า หรือห้ามไม่ให้เอาช้อนงัดปากคนชัก ยังสามารถถูกด่าประนามได้ ดังนั้นก็ต้องกล้าบ้าบิ่นพอสมควร"

หมอแมว-จ่าพิชิต ตอบดราม่า ปั๊มหัวใจฉุกเฉินด้วยเท้าไม่ผิด


ด้าน นพ.วิทวัส ศิริประชัย ผอ.โรงพยาบาลเกาะลันตา หรือ จ่าพิชิต เจ้าของแฟนเพจดราม่าแอดดิกที่ชาวเน็ตรู้จักกันดี ก็ได้โพสต์ข้อความเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพดังกล่าว โดยระบุว่า "การปั๊มหัวใจด้วยเท้าสามารถทำได้จริง และควรรีบทำหากอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้บาดเจ็บไม่หายใจหรือไม่มีชีพจรแล้ว แต่หากอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บได้ออกนอกรถยนต์ได้ การปั๊มหัวใจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้นในสถานการณ์แบบนี้ หากเข้าไปปั๊มหัวใจด้วยมือไม่ได้ จะใช้อะไรกดหน้าอกก็ได้ ขอให้ทำให้ได้ตามหลักการคือปั๊มให้ได้ 100 ครั้ง/นาที โดยกดให้หน้าอกตรงตำแหน่งกระดูกลิ้นปี่ส่วนล่าง บุ๋มลงไปให้ได้อย่างน้อย 2 นิ้ว แล้วปล่อย"

นอกจากนี้ นพ.วิทวัส ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ขอชื่นชมพลเมืองดีในภาพที่ไม่ย้ายผู้บาดเจ็บออกนอกตัวรถ เพราะคนที่ได้รับอุบัติเหตุกระแทกที่คอหรือศีรษะ อาจอยู่ในอาการกระดูกต้นคอร้าว เคลื่อน หรือหัก ซึ่งหากเราไปขยับโดยพลการ ก็อาจทำให้กระดูกที่หักนั้นขยับไปถูกไขสันหลังจนเสียหาย อันตรายถึงขั้นพิการตลอดชีวิตได้ ซึ่งในกรณีที่เจอผู้บาดเจ็บที่คอหรือศีรษะ หรือไม่รู้สึกตัว สิ่งสำคัญที่สุดก่อนเคลื่อนย้ายคือ ต้องหาอะไรมาดามคอให้อยู่นิ่งที่สุด มิฉะนั้นการเคลื่อนย้ายคนเจ็บด้วยเจตนาดี อาจเป็นการทำร้ายคนเจ็บไปชั่วชีวิต"

หมอแมว-จ่าพิชิต ตอบดราม่า ปั๊มหัวใจฉุกเฉินด้วยเท้าไม่ผิด


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์