ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า การลงชื่อซื้อขายที่ดินในนามของพระธัมมชโยนั้น เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535 ที่กำหนดว่าหากเป็นทรัพย์สินของวัดก็จะต้องมีการลงทะเบียนของวัดไว้เป็นหลักฐาน ว่าเป็นทรัพย์สินของวัด แม้ต่อมาพระธรรมชโยจะมีการคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นของวัดแต่ก็ล่วงเลยไปถึง 7 ปี ถือว่าการกระทำของพระธรรมชโยครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฐานทุจริต ผิดตามกฎหมาอาญามาตรา 147 และ157แม้ภายหลังจะมีการคืนทรัพย์สินให้วัด ก็เป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดเท่านั้น ไม่อาจถือว่าทำให้การกระทำที่เป็นความผิดอาญาซึ่งสำเร็จไปแล้วกลายเป็นไม่มีความผิด ดังนั้นในประเด็นนี้ผู้ตรวจจึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานพิจารณาว่าการที่นายพชรมีคำสั่งให้ถอนฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ในส่วนของสำนักพระพุทธศาสนานั้น หลังจากสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิต ฉบับลงวันที่ 26 เม.ย., 1 พ.ค. และ10 พ.ค. 2542 ที่ระบุว่าพระธัมมชโยควรคืนทรัพย์สินให้วัด ซึ่งจะไม่ถือว่ามีโทษ เพราะอาจไม่มีเจตนา แต่หากไม่ยอมคืนทรัพย์สินดังกล่าว จะถือได้ว่าจงใจเอาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของตัวเอง ซึ่งถือได้ว่าพระธัมมชโยย่อมไม่เป็นสมณะ ย่อมต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุ ซึ่งพระลิขิตดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตดังกล่าว แต่ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา และสำนักงานพระพุทธศาสนาไม่ได้ดำเนินการตามพระลิขิต จึงถือได้ว่าละเลยไม่ใส่ใจต่อการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระสงฆ์บางรูป ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่
"ในมุมของผู้ตรวจการแผ่นดิน จากการสืบพยานหลักฐานในชั้นศาลเห็นตรงกันว่า เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมีความผิดขัดต่อ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และยึดถือตามพระลิขิตว่าอาบัติปาราชิก แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจดำเนินการด้วยตัวเองจึงต้องเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป" นายรักษเกชา กล่าว