นักวิทยาศาสตร์จุฬาฯชี้พ.ย.ถึงม.ค.ปีหน้าส่อแล้งหนัก ลุ้น′พายุ-ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น′
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ นักวิทยาศาสตร์จุฬาฯชี้พ.ย.ถึงม.ค.ปีหน้าส่อแล้งหนัก ลุ้น′พายุ-ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น′
ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนทุกภูมิภาค และทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ลดลงอย่างมากในรอบหลายปี
แต่เดือนกรกฎาคมเป็นช่วงที่มีร่องมรสุมมากขึ้น จะช่วยเติมน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน
คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อย หากพ้นช่วงเวลานี้ไปเข้าสู่เดือนสิงหาคม จะเป็นช่วงที่ฝนทิ้งช่วง และจะกลับมามีร่องมรสุมอีกครั้งในเดือนกันยายน จะเป็นฝนที่ตกบริเวณใต้เขื่อน ด้วยกลไกของธรรมชาติอาจทำให้มีฝนจากฝั่งทะเลอันดามัน แม้จะมีปริมาณน้อยก็ตาม
รวมทั้ง พายุจากมหาสมุทรแปซิฟิกที่พัดผ่านจากหลายประเทศจนอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่น ก็ช่วยเติมปริมาณน้ำในเขื่อนได้
หากปีนี้พายุที่พัดเข้ามาในประเทศน้อยกว่าปกติ จะส่งผลให้ฤดูร้อนในปี 2559 เกิดภาวะภัยแล้งอย่างหนัก จากสถิติที่ผ่านมา หากเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรอินเดีย จะเกิดพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกมากกว่าปกติเช่นกัน ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามหาสมุทรแปซิฟิกจะมีพายุมากกว่าปกติประมาณ 6-7 ลูก และจะมีพายุระดับซุปเปอร์ไต้ฝุ่นประมาณ 7 ลูก จึงได้แต่หวังว่าพายุเหล่านี้จะมาถึงไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน
ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ต่อจากนี้ไทยจะประสบภาวะภัยแล้งแน่นอน จากแบบจำลองของเอลนีโญที่นักวิทยาศาสตร์ได้จัดทำขึ้น ซึ่งจะประเมินสถานการณ์จำลองทุกๆ 6 เดือน ปรากฏว่าภาวะภัยแล้งจะเกิดขึ้นอย่างหนักในเดือนพฤศจิกายน 2558-มกราคม 2559 เมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของเอลนีโญในครั้งก่อนซึ่งเกิดขึ้นในปี 2552 ถือว่าปี 2558-2559 รุนแรงกว่าพอสมควร
ส่วนค่าเฉลี่ยของการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญในแต่ละครั้งจะเกิดขึ้นประมาณ 6 เดือน -1 ปีครึ่ง
และจะหมุนเวียนสภาพอากาศดังที่กล่าวมาข้างต้น ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ และสถิติต่างๆ ที่ได้จัดทำขึ้นนั้น เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 50 ปี ที่รัฐบาลประกาศให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานชะลอการทำนา