เมกะโปรเจ็กต์ คิดได้ เมื่อ ′ภัยแล้ง′ บริหาร ′น้ำ′

เมกะโปรเจ็กต์ คิดได้ เมื่อ ′ภัยแล้ง′ บริหาร ′น้ำ′

เมื่อวิกฤต "ภัยแล้ง" มาเยือนและทำท่าว่าจะยาวนานจนถึงเดือนสิงหาคม หลายคนบังเกิด "นัยประหวัด" ไปยังอีกวิกฤต 1
 

นั่นก็คือ "วิกฤต" อันเนื่องแต่ "มหาอุทกภัย"
 

จะแตกต่างก็เพียงแต่วิกฤตอันเนื่องแต่มหาอุทกภัยมาเยือนเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งอยู่ในยุคของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 

หลังได้ "ชัยชนะ" จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม
 

ขณะที่วิกฤตอันเนื่องแต่ "ภัยแล้ง" มาเยือนรัฐบาล คสช.ในเดือนมิถุนายน 2558 หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ผ่านมา 1 ปีเศษ
 

คงจำได้ว่าหลัง "มหาอุทกภัย" ได้เกิดประดิษฐกรรม "กบอ." ขึ้น
 

กบอ.อันมาจากนามเต็มว่า คณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกภัย กำหนดงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท
 

เพื่อมิให้เกิดภาวะ "น้ำท่วม" หรือ "มหาอุทกภัย" อีก
 

จากวิกฤตน้ำท่วมเมื่อเดือนตุลาคม 2554 กระทั่งเกิดวิกฤตภัยแล้งนับแต่เดือนมิถุนายน 2558 เป็นต้นมา บทบาทของคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นอย่างไร
 

 น่าศึกษา น่าติดตาม


ต้องยอมรับว่าโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกภัยเกิดขึ้นในระยะใกล้เคียงกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
 

เรื่องน้ำวางเงิน 3.5 แสนล้านบาท เรื่องคมนาคมวางเงิน 2.2 ล้านล้านบาท
 

ปรากฏว่าเมื่อแถลงเป็น "นโยบาย" และนำเสนอโครงการรวมถึงเสนอร่างกฎหมายก็ได้ถูกต่อต้านขัดขวาง อย่างเป็นระบบ เป็นขบวนการ
 

ไม่ว่าที่ "รัฐสภา" ไม่ว่าที่ "องค์กรอิสระ"
 

เป้าหมายคือ ให้ 2 โครงการนี้ผ่านความเห็นชอบและลงมือปฏิบัติไม่ได้อย่างเด็ดขาด หากทำเมื่อใดก็ฉิบหายเมื่อนั้น
 

โดยกระบวนการ "รัฐสภา" อาจผ่าน เพราะรัฐบาลเป็น "เสียงข้างมาก"
 

แต่เมื่อผ่านจากกระบวนการรัฐสภาไปยัง "องค์กรอิสระ" ไม่ว่าโครงการเรื่องน้ำ ไม่ว่าโครงการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
 

ล้วน "ไม่ผ่าน"
 

แม้เข้าสู่โหมดแห่งการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาล คสช.อ้าแขนรับทั้ง 2 โครงการมาดำเนินการ ขับเคลื่อนต่อ โดยวงเงินงบประมาณที่สูงยิ่งขึ้น แต่จากเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งมาถึงเดือนกรกฎาคม 2558
 

 ทุกอย่างยังเป็น "ยักตื้นติดกึก" และเป็น "ยักลึกติดกัก"


ความน่าสนใจอยู่ที่แม้ว่าทั้ง 2 โครงการนี้จะถือได้ว่าเป็นโครงการในลักษณะอันเรียกว่า "เมกะโปรเจ็กต์" วงเงินหลายแสน หลายล้านล้านบาท
 

แต่มิได้อยู่ในความรับผิดชอบของ "ฝ่ายเศรษฐกิจ"
 

1 โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกภัยอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
 

1 โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
 

ทั้ง 2 เป็น "นขต." ไปยัง "นายกรัฐมนตรี"
 

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ มีอะไรก็รายงานตรงนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง มีอะไรก็รายงานตรงนายกรัฐมนตรีแล้ว
 

ไม่จำเป็นต้องผ่าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
 

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม 2558 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่เคยแตะเรื่องน้ำ ไม่เคยแตะเรื่องรถไฟฟ้า
 

เหมือนกับ "ลอยตัว" ประหนึ่ง "ลูกโป่ง" สีขาว
 

ทั้ง 2 โครงการจึงอยู่ในขั้นเพียงการจัดทำ MOI ยังไม่ถึงขั้น MOU และอย่าได้ถามถึง TOR อย่างเด็ดขาด เพราะยังอยู่ห่างไกลอย่างยิ่ง
 

 อย่าถามว่าจะ "ทำ" เมื่อใด เพราะยังไม่มี "คำตอบ"
 

หากนับจากเวลาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อเนื่องมายังเวลาของรัฐบาล "รัฐประหาร"
 

จากเดือนมิถุนายน 2554 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ 2 ปีเศษ จากเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนกรกฎาคม 2558 ก็ 1 ปีเศษ
 

 เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ยังติดกึก ติดกัก เป็นเขาวงกต

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์