ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 6 ก.ค. ที่บริเวณชายหาดบางแสนมีประชาชนเป็นจำนวนมากได้เดินทางไปเก็บปลา
หลังจากที่ทราบว่า มีปลาจำนวนมากตายเกยตื้นอยู่ที่ชายหาดบางแสน จึงได้เดินทางไปตรวจสอบ พบบริเวณชายหาดบางแสน ซึ่งมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร มีประชาชนเป็นจำนวนมาก ต่างก็ถือภาชนะ บางคนก็ถือถัง บางคนก็ถือถุง กำลังเก็บปลาตัวเล็ก ตัวน้อย อยู่บริเวณชายหาดกันอย่างชุลมุน โดยบางคนก็เลือกเฉพาะปลาตัวขนาดใหญ่ เพื่อนำไปรับประทาน โดยเฉลี่ยแล้วได้คนละหลายสิบกิโลกรัม และจากการตรวจสอบบริเวณชายหาดดังกล่าว พบว่า ปลาตัวเล็กๆ นอนตายเกลื่อนชายหาดไปหาด นอกจากนั้น น้ำทะเลก็เปลี่ยนเป็นสีเขียวตลอดชายหาด
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในช่วงเวลา 10.00 น. ทางเทศบาลเมืองแสนสุข ได้นำพนักงานฝ่ายโยธาธิการ ออกมาเก็บเศษปลาที่เหลือจากที่ชาวบ้านไม่ต้องการ
ซึ่งตายเกลื่อนชายหาด และเริ่มส่งกลิ่นเหม็น ได้เก็บกวาด และนำรถขนไปทิ้ง เกรงว่าหากปล่อยนานออกไป ก็จะยิ่งทำให้น้ำเสียมากยิ่งขึ้น และยังพบว่าบริเวณชายหาดยังมีเศษไม้ไผ่ ขยะ ถุงพลาสติกที่ลอยติดชายหาด ทางเทศบาลก็เก็บและทำความสะอาดตลอดแนวชายหาด ส่วนน้ำทะเลที่พัดเข้ามาชายฝั่ง มีลักษณะเป็นสีเขียว ตลอดแนวชายหาด และก็ยังพบว่ามีปลาตลาด ถูกพัดเข้ามาอยู่เรื่อยๆ
นายสมพงษ์ อายุ 60 ปี ชาวบ้านที่มาเก็บปลา เผยว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดทุกปี
ชาวบ้านเรียกว่า ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ หรือน้ำเปลี่ยนสี มาจากน้ำจืดไหลลงทะเล ทำให้เกิดแพลงก์ตอนคลุมน้ำทะเล ทำให้ออกซิเจนในน้ำไม่มี ส่งผลทำให้ปลาตายดังกล่าว ซึ่งที่บางแสนนั้นเกิดขึ้นทุกปี และครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา ตนเองก็จะมาเก็บปลาไปทำอาหารทุกปีเช่นกัน และในช่วงนี้อาหารทะเลก็แพง เราหาเช้า กินค่ำก็ต้องออกมาหาเก็บไปรับประทาน
ช่วงเวลา 09.00 น. ดร.เสาวภา สวัสดิ์พีระ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมทีมงานได้เดินทางมาตรวจสอบ โดยเก็บตัวอย่างน้ำทะเลไปตรวจสอบในห้องแล็บต่อไป
ดร.เสาวภา เผยว่า ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า แพลงก์ตอนบลูม มักจะเกิดขึ้นทุกปี สำหรับชายหาดบางแสนนั้น
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกเป็นจำนวนมาก นำฝนได้ไหลลงสู่ทะเล ทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วบริเวณนั้น มีปริมาณธาตุอาหารสูง โดยเฉพาะไนเตรตและฟอสเฟตประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งในเรื่องของแสงแดด อุณหภูมิและความเค็มของน้ำทะเล จึงทําให้แพลงก์ตอนเกิดการสังเคราะห์แสง และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติ ทำให้พืชและสัตว์น้ำแย่งออกซิเจนกัน ทำให้ปลาที่อยู่ตามชายหาดหรือน้ำตื้นตายเป็นจำนวนมากเท่าที่ปรากฏ
“ส่วนประชาชนที่นำปลาไปปรุงอาหารนั้น หากมีความจำเป็นก็สามารถรับประทานได้ แต่ควรปรุงให้สุก แต่ก็อาจจะทำให้เกิดท้องเสียขึ้นมาได้” ผอ.สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าว
แห่เก็บปลาตายเกลื่อนหาดบางแสน คนละหลายสิบกิโลฯ นักวิชาการแจงปรากฏการณ์!!
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ แห่เก็บปลาตายเกลื่อนหาดบางแสน คนละหลายสิบกิโลฯ นักวิชาการแจงปรากฏการณ์!!