เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทยอยอนุญาตให้ผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์สที่มีความเสี่ยงสูง
ซึ่งต้องกักตัวเฝ้าดูอาการอยู่ในโรงพยาบาลที่มีห้องแยกเชื้อ ให้ออกจากระบบการเฝ้าระวังโรค เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. จำนวน 20 คน นั้น มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา น.ส.ซู เคอรี นิวแมน อายุ 30 ปี ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สัมผัสโรคเมอร์ส และต้องอยู่ในห้องแยกเพื่อเฝ้าระวังอาการ ที่รพ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยผ่านสื่ออังกฤษว่า เดินทางมาจากประเทศอังกฤษ เพื่อตั้งใจมาเรียนมวยไทยที่หัวหิน 6 เดือน เพื่อกลับไปเปิดค่ายมวยที่ประเทศอังกฤษ
ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีระบบเฝ้าระวังที่ดี และมีความรวดเร็วในการค้นหาตัวเธออย่างมาก
ซึ่งระหว่างที่ได้รับการกักตัว ก็อยู่ในห้องแยกตลอดและได้รับการดูแลอย่างดี ระหว่างถูกกักโรคนั้น แรกๆ ก็เกิดความอึดอัด เพราะมีกล้องคอยจับตาอยู่ 24 ชั่วโมง แต่เจ้าหน้าที่ไทยทำความเข้าใจให้ทราบถึงความเสี่ยง และความร้ายแรงของโรค ซึ่งทำให้ตนเข้าใจดีถึงความสำคัญในการเฝ้าระวังโรคในครั้งนี้ โดยภายหลังออกจากระบบการเฝ้าระวังโรคน.ส.ซู เดินทางไปยังค่ายมวย เพื่อเรียนมวยตามที่ได้ตั้งใจไว้
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการดูแลผู้ป่วยโรคเมอร์สชาวโอมานนั้น
ได้ให้กรรมการแพทย์ที่ทำการรักษาวางแผนการกำหนดว่า จะให้ผู้ป่วยออกจากห้องแยกโรคความดันลบและโรงพยาบาลได้เมื่อไร เพื่อบ่งบอกว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวจะไม่มีการแพร่โรคแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคือ ผู้ป่วยจะต้องไม่มีอาการ และผลตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการเป็นลบ
ซึ่งแม้ผลการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติครั้งล่าสุดของผู้ป่วยรายดังกล่าวจะเป็นลบ
แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาให้ออกจากห้องแยกโรค เพราะยังมีโรคประจำตัวคือ โรคหัวใจ ยังมีอาการเหนื่อยหอบ เดินเองได้ยังไม่คล่องต้องมีคนช่วยพยุง จึงอยากให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นกว่านี้อีก จึงจะพิจารณาอนุญาตในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อประกาศว่าผู้ป่วยไม่แพร่โรคแล้ว จะต้องเฝ้าระวังไปอีก 28 วัน จึงจะประกาศได้ชัดเจนว่า ประเทศไทยปลอดจากโรคเมอร์สแล้ว สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ยังต้องเฝ้าระวังอีก 16 รายที่เหลือ คือญาติ 3 ราย และบุคลากรรพ.เอกชนอีก 13 ราย จะพ้นการเฝ้าระวังวันที่ 2 ก.ค.นี้
“ส่วนกรณีสาวชาวอังกฤษนั้น แม้จะได้รับการชื่นชมว่า ไทยมีมาตรการควบคุมโรคที่ดี แต่ยังต้องมีการหารือเพื่อปรับปรุงมาตรการให้ดียิ่งขึ้นอีก อย่างเรื่องการเฝ้าระวังผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคเมอร์ส เช่น ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดจากการเดินทางมาบนเครื่องบินลำเดียวกัน ก็จะมีการหารือกันว่าจะเฝ้าระวังมากน้อยแค่ไหน เพราะการจะนำตัวเข้าโรงพยาบาลนั้นไม่ง่าย อาจมีการพิจารณาว่าไม่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลหรือไม่ หรือหากต้องอยู่จะให้อยู่ที่ไหนที่มีความพร้อมและสะดวก” นพ.โสภณ กล่าว
ด้าน นพ.นิรันดร์ จันทร์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวหิน กล่าวว่า หลังจากได้รับแจ้งจาก กรมควบคุมโรค ว่ามีผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคเมอร์สในพื้นที่
ก็รีบดำเนินการตามหาตัวหญิงชาวอังกฤษรายดังกล่าว ซึ่งหลังจากพบตัวแล้วก็เข้าไปขอให้มาอยู่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังอาการอย่างสุภาพ และอธิบายให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการควบคุมโรค ซึ่งหญิงรายดังกล่าวก็มีความสุภาพมาก และเข้าใจกระบวนการควบคุมโรคของไทยเป็นอย่างดี จึงให้ความร่วมมือ ในการจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในโรงพยาบาล
ซึ่งระหว่างที่อยู่ห้องแยกในโรงพยาบาลก็พบว่าไม่ได้มีอาการไข้ และผลตรวจเลือดก็ไม่พบสารภูมิคุ้มกันต่อเชื้อดังกล่าว
อาจเป็นเพราะหญิงรายดังกล่าวตั้งใจมาเรียนมวยไทยที่ประเทศไทย ถือว่าเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว นอกจากนี้ ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลก็ไม่ได้มีความรู้สึกเครียดแต่อย่างใด เขาก็รู้สึกดีที่บุคลากรให้การดูแลเอาใจใส่อย่างดี ซึ่งจากการที่หญิงชาวอังกฤษรายนี้ได้เปิดเผยเรื่องราวระหว่างถูกกักตัว ตามกระบวนการควบคุมโรคได้รับการปฏิบัติอย่างไร ตรงนี้จะช่วยให้คนต่างชาติที่จะมาเที่ยวประเทศไทยมีความมั่นใจในระบบควบคุมโรคของไทย
สาวเมืองผู้ดีตั้งใจมาเรียนมวยแต่ถูกกักตัวเฝ้าระวังเมอร์ส ชื่นชมมาตรการไทยหาตัวเร็ว-ดูแลดี
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ สาวเมืองผู้ดีตั้งใจมาเรียนมวยแต่ถูกกักตัวเฝ้าระวังเมอร์ส ชื่นชมมาตรการไทยหาตัวเร็ว-ดูแลดี