ดังนั้น การฟ้องร้องจึงไมควรฟ้อง กสทช.ด้วยเหตุผลว่าจะไม่จ่ายเงินดังกล่าว แต่หากจะฟ้องเฉพาะเรื่องที่ กสทช.ไม่ดำเนินการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการทำธุรกิจนั้น กสทช.เข้าใจ โดยส่วนตัวไทยทีวีไม่ควรจะนำ 2 เรื่องมาโยงกัน เพราะเงินค่าประมูลกับค่าธรรมเนียมยังไงก็ต้องจ่ายเงื่อนไขการประมูล
"เรื่องนี้ถ้าบอร์ด กสท.ไม่ทำ และผมไม่ทำตาม ก็จะผิดมาตรา 157 ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่เงินส่วนตัว ถ้าเป็นเงินส่วนตัวเราก็พอจะเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ แต่นี่ไม่ใช่เงินของเรา แต่หากไทยทีวี ยังไม่ยอมจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอล กสทช.คงต้องเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องให้ชำระค่าประมูล อยากให้ไทยทีวีศึกษากระบวนการให้ดี"
อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งออกมาอย่างไร กสทช.ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ระหว่างนี้หากศาลยังไม่มีคำสั่งใดๆ เมื่อครบ 1 เดือน คือ วันที่ 22 ก.ค.58 ซึ่งครบกำหนดการยึดหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) งวดที่ 2 จากธนาคารกรุงเทพ ทางสำนักงาน กสทช.ก็จะส่งหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการตามกฏหมาย พร้อมทั้งแจ้งกระทรวงการคลังถึงเหตุผลที่ไม่สามารถนำเงินส่งเข้าแผ่นดินได้ ทั้งนี้ หากศาลสั่งให้ระงับการจ่ายแบงก์การันตี กสทช.ก็ต้องแจ้งกรมบัญชีกลาง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วธนาคารไม่สามารถระงับแบงก์การันตีได้ไม่เช่นนั้นธนาคารนั้นๆจะถูกบัญชีดำ (แบลคลิสต์)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสทช.มีความพยายามในการเยียวยาให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง ด้วยการมีมติให้เลื่อนการจ่ายค่าประมูลงวดที่ 2 ไปอีก 1 ปี แต่ด้วยความเห็นจากหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่างก็ให้ความเห็นว่าทำไม่ได้
ส่วนเรื่องที่พีซทีวีฟ้องนั้นเป็นสิ่งที่เขาทำถูกต้องแล้ว เพราะหากเขาไม่ฟ้องเขาก็ไม่สามารถเปิดช่องเพื่อดำเนินรายการต่อได้ เพราะการไปขอใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมปัจจุบันนี้ไม่ใช่ขอกันง่ายๆ แต่เราก็ต้องไปชี้แจงด้วยว่ากว่ามติจะออกมาต้องผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการเนื้อหามาก่อนแล้ว ดังนั้น โดยส่วนตัวแล้วไม่ติดใจเรื่องการฟ้องของช่องนี้แต่ไม่ถูกใจตรงที่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย