ปืนนะ ไม่ใช่ขนม! เจาะลึก 5 ข้อควรรู้ พกพาอาวุธเดินทางข้ามประเทศ ทำได้ไง?

ปืนนะ ไม่ใช่ขนม! เจาะลึก 5 ข้อควรรู้ พกพาอาวุธเดินทางข้ามประเทศ ทำได้ไง?

ระแสข่าวเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนข้ามประเทศกำลังถูกพูดถึงอย่างหนาหู จากกรณีอดีต ผบช.น. ถูกเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นควบคุมตัว ข้อหามีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครอง งานนี้มีโทษจำคุกถึง 10 ปีทีเดียว สำหรับใครที่อาจจะ 'เผลอ' หรือสุ่มเสี่ยงต่อกรณีคล้ายๆ กัน ขอบอกว่าต้องระมัดระวังเรื่องแบบนี้ไว้ก่อนเป็นดี

พูดถึง 'ปืนพก' นอกจากทหารและตำรวจแล้ว สมัยนี้พลเรือนหลายคนก็เลือกที่จะซื้อปืนถูกกฎหมายเอาไว้ป้องกันตัว แต่การพกพาหรือการนำติดตัวเวลาเดินทางก็จะต้องมีขั้นตอน ระเบียบ ข้อบังคับ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะถ้าคุณจะเดินทางไปต่างประเทศ ขอบอกว่าถ้าไม่มีเหตุจำเป็นห้ามพกไปเด็ดขาด

และเพื่อให้รู้ไว้ดีกว่าแก้ วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จึงนำข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการพกพาปืนเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศมาฝากกัน เป็นต้นว่าผู้ที่พกพาไปได้ต้องทำงานอะไร? ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในสนามบิน? รวมถึงมีประเทศไหนบ้างที่รัฐบาลอนุญาตให้พกพาปืนเข้าเมืองได้?

ถ้าพร้อมแล้ว...ตามมาอ่านกันเลย

1. ทำไมหลายประเทศในโลก ไม่ให้พกปืนเข้าเมือง (ไม่ผ่าน ตม.)?

สาเหตุที่ไม่ให้พกอาวุธขณะเดินทางข้ามประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบินนั้น ก็เพราะว่า เป็นมาตรการป้องกันการก่อการร้าย รวมถึงป้องกันการเกิดเหตุร้ายแรงต่างๆ เช่น การจี้ตัวประกัน การสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย การทำร้ายผู้อื่นในที่สาธารณะ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก

2. พกได้ในเหตุผลอันสมควร

แต่ทั้งนี้ หากมีเหตุผลจำเป็นในบางกรณีก็สามารถผ่อนผันได้ เช่น กรณีพกปืนไปเพื่อทำการ 'แข่งขันกีฬา' ซึ่งก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนขึ้นเครื่องทุกครั้งและทำตามพิธีการของด่านตรวจในสนามบิน หรืออีกกรณีคือ 'บอดี้การ์ด' ของผู้นำประเทศหรือบุคคลทางการทูต เวลาต้องเดินทางไปประชุมเรื่องสำคัญในต่างประเทศ บุคคลเหล่านี้ก็มักจะต้องมีบอดี้การ์ดคอยติดตามอารักขา ส่วนใหญ่ต้องเป็นระดับผู้นำประเทศเท่านั้น

สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ระบุไว้ว่า หากมีการนำอาวุธปืนเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการรักษาความปลอดภัยของบุคคลทางการทูต โดยนำติดตัวเข้าประเทศ มีระเบียบปฏิบัติดังนี้

- กรมการปกครอง (นายทะเบียนอาวุธปืน) ต้องมีหนังสือถึงกรมศุลกากร

- เจ้าหน้าที่สถานทูตนำเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พร้อมใบอนุญาตให้นำเข้าซึ่งอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร

- เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตรวจปล่อย การนำออก

- เจ้าหน้าที่สถานทูตนำ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พร้อมอาวุธมาให้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจ

- เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจปล่อยและตัดบัญชี

- เจ้าหน้าที่ บจม.ท่าอากาศยานไทย คุมส่งขึ้นเครื่อง
หมายเหตุ : กรณีมิได้นำเข้าราชอาณาจักร สามารถฝากที่ Customs bond ได้ โดยชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบ


ปืนนะ ไม่ใช่ขนม! เจาะลึก 5 ข้อควรรู้ พกพาอาวุธเดินทางข้ามประเทศ ทำได้ไง?

3. พกได้ในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ

กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จำเป็นต้องพกพาปืนเดินทางไกลโดยเครื่องบิน ต้องสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ในสนามบินเสมอ มีขั้นตอน ดังนี้

- ติดต่อเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์ว่าได้นำพาอาวุธปืนมาด้วย เจ้าหน้าที่จะติดสติกเกอร์ให้ ไม่ต้องโหลดลงใต้เครื่อง (ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่จะให้ไปที่เคาน์เตอร์ Y1)


- ตรงมาที่เคาน์เตอร์ Y1 แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะนำพาอาวุธปืนขึ้นเครื่อง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำปืนไปผ่านเครื่องสแกน

- กรอกเอกสารว่านำปืน มากี่กระบอก จำนวนกระสุนเท่าไร และแนบสำเนาใบอนุญาตให้มีและการใช้อาวุธปืน (ป.4)

- แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรข้าราชการพลเรือน กรณีที่ไปปฏิบัติราชการให้แสดงบัตรประจำตัวราชการพร้อมคำสั่ง ของผู้บังคับบัญชาให้เดินทางไปปฏิบัติงาน


4. พกพาอาวุธเดินทางโดยไม่มีเหตุอันควร ตรวจพบมีโทษร้ายแรง

กรณีที่แอบซุกซ่อนพกพาอาวุธปืนเดินทางไปต่างประเทศโดยที่ไม่สำแดงต่อเจ้าหน้าที่ ตม. หากตรวจพบจะถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายทันที สำหรับในประเทศไทย อาวุธปืน ถือเป็นของต้องกำกัด (Restrict Goods) หมายถึง ของบางชนิดที่กฎหมายควบคุมการนำเข้ามา และการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การนำเข้าและการส่งออกของต้องกำกัด ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องนำมาแสดงในเวลาปฏิบัติพิธีการศุลกากรด้วย หากไม่นำมาแสดงจะถูกปรับ หรือ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และสิ่งของนั้นจะถูกริบเป็นของแผ่นดิน

ถ้าไปต่างประเทศ หากตรวจพบว่าพกพาอาวุธในสนามบิน บทลงโทษก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศเข้มงวดมาก เช่น

- ประเทศญี่ปุ่น : ถูกจับ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือถูกปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ประเทศลาว : เข้มงวดมาก ถ้าตรวจพบ ติดคุกทันที
- ประเทศสิงคโปร์ : บทลงโทษร้ายแรงมาก พอๆ กับยาเสพติด คืออาจถึงขั้นประหารชีวิต
- ประเทศมาเลเซีย : บทลงโทษร้ายแรง อาจถึงขั้นประหารชีวิต

5. 10 ประเทศที่พกอาวุธปืนเข้าเมืองได้

ในหลายประเทศมีบทลงโทษร้ายแรงหากตรวจพบอาวุธปืนในสนามบิน แต่ก็มีบางประเทศที่เป็นมิตรกับผู้ถือครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมาย สามารถพกพาอาวุธเข้าประเทศได้ ซึ่งรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นจะมีการออกกฎหมายเฉพาะสำหรับพลเรือนที่ถือครองอาวุธปืน ซึ่งพลเรือนเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย

การออกกฎหมายเฉพาะทางแบบนี้ ทางสหประชาชาติกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะต้องมาออกกฎหมายร่วมกัน ซึ่งการพิจารณาและตัดสินว่าประเทศไหนสามารถพกอาวุธเข้าประเทศได้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับอัตราของประชากรที่ถือครองปืน (ส่วนใหญ่เป็นปืนพก) ว่ามีมากน้อยแค่ไหน กฎหมายมีความรัดกุมแค่ไหน การดำเนินการตรวจสอบเข้มงวดหรือเปล่า รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

ซึ่ง 10 ประเทศในโลก ที่สามารถพกอาวุธปืนเข้าประเทศได้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สาธารณรัฐเช็ก, สวิตเซอร์แลนด์, ปานามา, นอร์เวย์, แคนาดา, สวีเดน, เซอร์เบีย, ฟินแลนด์ และ ฮอนดูรัส

ที่มาข้อมูล : gunsandammo.com, gun.in.th, thaifighterclub.org,

suvarnabhumiairport.com, internet1.customs.go.th


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์