แอดมิสชั่นส์ประกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอแสดงความยินดีกับคนที่ "สมหวัง" ส่วนคนที่ "อกหัก" ก็อย่ามัวกอดเข่าร้องไห้หนักมากอยู่ เพราะชีวิตไม่ได้พังทลายเพียงเพราะว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ยังมี "โลก" อันกว้างใหญ่อีกมากมายให้ได้เรียนรู้ และออกไปไขว่คว้าความสำเร็จ "โลก" ที่ทุกวันนี้ "ติดไฮสปีด"
บัณฑิตเตะฝุ่นนับแสน!! อย่าตัดสินปลาด้วยการปีนต้นไม้
อย่ากระนั้นเลย...มีเรื่องหนึ่งที่ "ว่าที่นิสิต-นักศึกษา" ต้องรู้!! กับสถิติเมื่อปี 2557 เปิดเผยโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในปี 2557 ประเทศไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 547,853 คน แยกเป็นปริญญาตรี 336,879 คน หรือร้อยละ 61 รองลงมาคือระดับ ปวส. 74,550 คน หรือร้อยละ 14
จากการสำรวจพบว่ามีบัณฑิตปริญญาตรีตกงานถึง 160,000 คน ซึ่งเมื่อรวมทั้งระบบมีผู้ว่างงาน 306,148 คน ทั้งที่มีอัตราขาดแคลนแรงงานอยู่ที่ 181,827 คน
ทั้งที่มีอัตราว่างงานอยู่อีกมาก แต่ทำไมยังมี "บัณฑิตเตะฝุ่น" อีกนับแสนคน!
ในงานเปิดตัว "สเปียร์เฮด โปรแกรม" จัดโดยศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ สมาร์ท พีเอดี ที่ห้องประชุมศูนย์บริการ The Wisdom กสิกรไทย อาคารแปซิฟิคเพลส 2 นายสริต อธิศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ ไขปัญหานี้ให้รับรู้ว่า
"ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวบัณฑิตเอง ซึ่งเราจัดอยู่ในเจเนอเรชั่นเอ็ม (Millennial Generation) หรือ ช่วงตั้งแต่เริ่มเรียนระดับอุดมศึกษาถึงทำงานใหม่ อายุระหว่าง 18-24 ปี ที่เขามีทักษะไม่ตรงกับงาน ขาดการเตรียมตัวขณะสมัครงานและเตรียมชีวิตเพื่อการทำงาน" นายสริตกล่าว
ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลบริษัท จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ปี 2557 ที่ระบุสาเหตุบัณฑิตจบใหม่หางานไม่ได้ เพราะเลือกเรียนตามกระแสนิยม เลือกงานเลือกองค์กร มีทักษะไม่ตรงกับงาน ทำให้เข้าออกงานบ่อยเพราะทำแล้วไม่ชอบ ซึ่งส่วนใหญ่พบมากในธุรกิจการเงิน ประกัน การขาย บางแห่งมีสัดส่วนพนักงานใหม่ต่อพนักงานเก่าเข้าออกงานถึงร้อยละ 10 ซึ่งถือว่าส่งผลกระทบมาก
ด้วยเหตุนี้ พีดีเอ จึงได้จัดทำ "สเปียร์เฮด โปรแกรม" ขึ้น ซึ่งเป็นโปรแกรมวิเคราะห์บุคลิก นำไปสู่การเลือกอาชีพที่ตรงกับความชอบและความถนัด
นายจรัส ศรีสมัยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ กล่าวว่า ก่อนที่จะตัดสินใจเรียนอะไร คงต้องตั้งคำถามกันจริงๆ ว่า เรารู้จักตัวเองหรือเปล่า ซึ่งต้องย้อนกลับไปตั้งแต่เลือกเรียนในระดับอุดมศึกษา ว่าเลือกเรียนตามเพื่อนหรือไม่ เลือกตามพ่อแม่กำหนดและแนะนำหรือเปล่า เพราะเหล่านี้เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร สิ้นเปลืองเวลาซึ่งไม่สามารถเรียกกลับมาได้
เพื่อให้เห็นภาพ "สเปียร์เฮด โปรแกรม" ว่าสามารถวิเคราะห์บุคลิกมนุษย์ชี้นำอาชีพที่เหมาะได้อย่างไร น.ส.กิติมา หงส์ศิริกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ยกตัวอย่างสาขาอาชีพนี้ ดังนี้
"ทันตแพทย์" ศักยภาพหลักของคนลักษณะนี้คือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ตามข้อมูล หลักฐานและหลักการ และกฎระเบียบ, จับประเด็นสำคัญเก่ง มุ่งเน้นความสำเร็จของเป้าหมายเป็นสำคัญ, โดยมีลักษณะนิสัยพื้นฐานคือ เป็นคนทำงานละเอียด ยึดมั่นในหลักการที่ผ่านการคิด วิเคราะห์ และหลักฐานที่ชัดเจนมาแล้ว, มุมานะ ขยัน และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาหรือข้อผิดพลาด, ชอบทำตามแบบแผน ระบบ ขั้นตอน หรือสิ่งที่ทำสำเร็จมาแล้ว, ยึดมั่นในหลักการและข้อตกลง ชอบบริหารจัดการและตัดสินใจ
"นักดนตรี" ศักยภาพหลักของคนลักษณะนี้ คือ มีความคิดสร้างสรรค์, มีความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ที่ลึกซึ้ง, สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย และเป็นนักจูงใจ โดยมีลักษณะนิสัยพื้นฐาน คือ เป็นคนสบายๆ ไม่ถือตัว, มีความคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ จนบางครั้งคนรอบตัวตามไม่ทัน, มีอารมณ์ที่อ่อนไหวแต่มักจะเก็บซ่อนไว้ไม่ให้คนอื่นรู้ และมีความเป็นตัวของตัวเองสูงและ ชอบให้ความหมายและสร้างตัวตนให้กับสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือสิ่งของ
"นักสืบราชการลับ" ศักยภาพคือ มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์, ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า, มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องที่ต้องทำ, สามารถปรับตัวได้ง่ายในทุกสถานการณ์ และรักความเสี่ยง โดยมีลักษณะนิสัยพื้นฐานคือ มีนิสัยกลุ่มเดียวกับโบรกเกอร์ที่มีการวิเคราะห์หุ้น, ชอบคิดเชิงระบบ แต่ก็ปรับเปลี่ยนได้ทันทีตามสถานการณ์, เป็นคนที่ชอบทำอะไรแหกกฎ ไม่ทำตามแผนการหรือแนวทางที่คนอื่นวางไว้ให้, เป็นคนจับจดในหัวข้อเรื่องที่ตนเองสนใจ, ภายนอกจะดูเหมือนเป็นดุที่ไม่ยอมพูด และวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผลตลอดเวลา แต่ภายในเป็นคนใจดีเปิดรับฟังความคิดเห็น และเป็นคนช่างสังเกต สามารถแยกแยะความผิดปกติเพียงเล็กน้อยของสิ่งรอบตัวได้
ดั่งคำพูดของ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกว่า
"ทุกคน เกิดมา มีความเป็นอัจฉริยะในตัวเอง ถ้าวันนี้คุณตัดสินปลาด้วยความสามารถในการปีนต้นไม้ ตลอดทั้งชีวิตนี้มันจะคิดว่า มันโง่"