12 มิ.ย.58 นายสุชาติ ชมกุล ทีมที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายบริษัท ไทยทีวี จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีที่ ในวันที่ 14 มิ.ย58 จะครบกำหนดให้ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ บริษัท ไทยทีวี ตอบกลับหนังสือแจ้งผิดนัดชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 2 หรือชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 2 ก่อนที่ กสทช. จะดำเนินการนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน(แบงก์การันตี) ของ บริษัท ไทยทีวี ไปขึ้นเงินกับสถาบันการเงินที่ออกแบงก์การันตีในวันที่ 15 มิ.ย.58 นี้
ทั้งนี้ ไทยทีวี ขอยืนยันว่า จะไม่ดำเนินการทำหนังสือตอบกลับไปยัง กสทช. และก็ยังไม่ดำเนินการชำระเงินตามเวลาที่ กสทช. กำหนด ส่วนการที่ กสทช. จะนำแบงก์การันตีของ ไทยทีวี ของช่องไทยทีวี และโลก้า ไปขึ้นเงินกับทางธนาคารกรุงเทพ ในวันที่ 15 มิ.ย.58 ขอยืนยันว่าตามกระบวนการยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากทาง กสทช. ต้องแจ้งมายังบริษัท ไทยทีวี ก่อนว่าจะนำแบงก์การันตีไปขึ้นเงิน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินไขการยกเลิกใบอนุญาตของ ช่องไทยทีวี และช่องโลก้า ตามแนวทางที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีมติบอร์ดออกมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากเรื่องชำระค่าใบอนุญาตแล้ว ที่ให้ ไทยทีวี ส่งแผนเยียวยาลูกค้า และชำระค่าธรรมใบอนุญาตรายปี ในอัตรา 2% จากรายได้รวมต่อปี ของปี 2557 และปี2558 โดยในส่วนของแผนการเยียวยาลูกค้านั้นทางบริษัทฯ ได้ส่งให้ บอร์ด กสท. นำไปพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทั้ง 2 ปีนั้น ทางบริษัทมีจุดยืนที่แน่ชัดแล้วว่า จะไม่ชำระเงินในส่วนดังกล่าว เนื่องจากทางบริษัทฯเห็นว่าที่ผ่านมา กสทช. ไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายแม่แบบได้ทันตามกำหนด เช่น การประชาสัมพันธ์ การวางโครงข่ายภาคพื้นดิน และแจกคูปองทีวีดิจิตอลที่ล่าช้า
สำหรับทิศทางการดำเนินการขั้นต่อไปเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล และการยกเลิกใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ขณะนี้ยังไม่มีแผนดำเนินการ หรือตัดสินใจเดินหน้าในด้านใด ซึ่งจะต้องของให้ผู้บริหารบริษัทเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจต่อไป แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องศาลปกครอง หากการเจรจาในเรื่องต่างๆระหว่าง ไทยทีวี และ กสทช. มีทิศทางไม่ตรงกัน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 15 มิ.ย.58นี้ จะนำแบงก์การันตี ไทยทีวี ไปขึ้นเงินทันที เนื่องจากไม่มีการตอบหนังสือกลับมา และไม่มีการชำระค่าใบอนุญาต ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานกสทช.ได้ส่งหนังสือทวงถามและชี้แจงรายละเอียด เงื่อนไข การชำระค่าใบอนุญาตไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 พ.ค.58 ที่ระบุชัดเจนว่า ไทยทีวี ต้องทำหนังสือตอบกลับมาพายใน 15 วัน หลังจากได้รับหนังสือ
อย่างไรก็ตามกระบวนการขอขึ้นเงินจากแบงก์การันตี ประกอบด้วย กสทช. ต้องนำแบงก์การันตี ไปฟ้องบังคับคดีต่อธนาคารที่ออกแบงก์การันตี เพื่อขอให้ชำระเงินแก่ กสทช. แทนผู้ประกอบการรายนั้น จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการที่ธนาคารไปทวงหนี้กับผู้ขอออกแบงก์การันตี ซึ่งตามระเบียบ กสทช. จึงได้รับเงินแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่วนธนาคารก็เชื่อว่าจะไม่เสียหายเพราะผู้ขอออกแบงก์การันตีต้องมีหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงกว่ามาค้ำประกันอยู่ก่อนแล้ว
อีกทั้ง ภายหลังจากที่ กสทช. ได้รับเงินจากสถาบันการเงินเรียบร้อยแล้ว กสทช. จึงจะดำเนินการฟ้องร้องผู้ประกอบ เพื่อเรียกค่าดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่เกินกำหนดชำระเงินค่าประมูลในงวดที่2 ในอัตรา 7.5% ต่อปี โดยนับตั้งแต่วันแรกที่เกินเวลานัดชำระจนถึงวันที่ธนาคารได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น โดยการจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีของทีวีดิจิตอลในอัตรา 2% จากรายได้ต่อปี ตอนนี้ทั้ง 22 ช่อง ได้จ่ายมาครบแล้ว มีเพียง 2 ช่องที่ยังไม่จ่ายคือ ช่องโลก้าและช่องไทยทีวี
ส่วนความคืบหน้ากรณีที่สำนักงาน กสทช. ส่งหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ผู้รับสัมปทานเดิม คือ ช่อง 3 (อนาล็อก) และช่อง 7(อนาล็อก) ซึ่งประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่มีอัตรารวมไม่เกิน 2% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายหรือไม่นั้น
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือตอบกลับโดยให้ความเห็นว่า ผู้รับสัมปทานเดิมไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 75 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ถึงแม้ว่ามาตรา 42 วรรคสาม จะได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลเป็นการลบล้าง หรือยกเลิกบทบัญญัติ มาตรา 75 วรรคสอง ที่กำหนดยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแก่ผู้รับสัมปทานเดิมไว้ สำนักงาน กสทช.จะนำความเห็นดังก่าวเสนอที่ประชุม กสท.เพื่อพิจารณาต่อไป