เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานและสอบคำให้การ คดีหมายเลขดำ อ.313/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือนางชนาภา บุญโต อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน),บริษัทไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และน.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม,นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการข่าวชื่อดัง และ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้ม เป็นจำเลย 1-4 ในความผิดฐาน เป็นพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่,เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร,เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.6,8 และ 11 ตามคำฟ้องของโจทก์ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.58 ระบุว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.48 - 28 เม.ย.49 นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ได้จัดทำคิวโฆษณารวมในรายการ"คุยคุ้ยข่าว"ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท. เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากจำเลยที่ 2-4 เพื่อเป็นการตอบแทนที่ นางพิชชาภา ไม่รายงานการโฆษณา
คดีไร่ส้มเข้มข้น สรยุทธ ปฏิเสธสู้คดีเต็มที่
โดยศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ฟัง ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ พร้อมยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติม ขณะที่ศาลได้ชี้แจงต่อคู่ความว่าคดีนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น ตามกฎหมายศาลจะยึดสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช.เป็นหลัก โดยจำเลยสามารถนำพยานหลักฐานมานำสืบโต้แย้งได้ ต่อมาศาลสอบถามแนวทางพิจารณาคดีแล้ว คู่ความแถลงไม่มีข้อเท็จจริงที่รับกันได้ โดยอัยการโจทก์แถลงขอสืบพยานตามสำนวนการไต่สวนของป.ป.ช. ซึ่งมีผู้บริหารและพนักงานบมจ. อสมท. ชุดปัจจุบันและอดีต ที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาและจัดคิวโฆษณา รวม 19 ปาก ส่วนนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 แถลงแนวทางต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจอนุมัติการโฆษณา และไม่เคยใช้น้ำยาลบคำผิดลบข้อความเกี่ยวกับการจัดคิวเวลาโฆษณา ส่วนเช็ค 6 ฉบับที่ได้รับนั้นเป็นค่าประสานงานคิวโฆษณาที่นอกเหนือจากหน้าที่ ไม่ใช่ค่าตอบแทนในการไม่ระบุการโฆษณาเกินเวลา โดยจะขอนำสืบพยาน 2 ปาก คือ จำเลยและพนักงาน บมจ.อสมท. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย ส่วนบมจ. ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ได้แถลงว่าไม่เคยมอบให้ผู้ใดไปติดต่อเพื่อจัดคิวโฆษณาเกินเวลา และไม่เคยให้จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารเกี่ยวกับการโฆษณา
เช่นเดียวกับนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 ที่แถลงว่าไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่อะไร และไม่เคยติดต่อให้ผู้ใดไม่รายงานโฆษณาที่เกินเวลา แต่ยอมรับว่าเช็ค 6 ฉบับที่จำเลยที่ 1 มีได้ลงลายมือชื่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเช็คที่ชำระค่าประสานงาน ไม่ใช่เงินที่ตอบแทนให้จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารที่เกี่ยวกับการโฆษณา โดยจำเลยที่ 2-3 ขอสืบพยานทั้งหมด 25 ปาก ซึ่งเป็นพยานที่ซ้ำกับพยานโจทก์ 9 ปาก จึงเหลือพยานที่จะนำสืบ 16 ปาก ขณะที่ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 4 แถลงว่า เช็คที่ชำระให้จำเลยที่ 1 เป็นค่าประสานงานหรือค่านายหน้าในการหาโฆษณา ไม่เคยใช้ให้จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในเอกสารที่เกี่ยวกับการโฆษณา โดยจำเลยที่ 4 ขอสืบพยาน 8 ปาก แต่มีพยาน 2 ปากที่ซ้ำกับพยานของอัยการโจทก์ จึงเหลือพยานที่จะต่อสู้คดี 6 ปาก ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นควรให้อัยการโจทก์นำสืบพยาน 19 ปาก ใช้เวลา 4 นัด ในวันที่ 17-18 ก.ย. และ 29-30 ก.ย.นี้ ส่วนจำเลยที่ 1-4 ให้สืบพยาน 5 นัด ในวันที่ 2,8 ต.ค. และ 28-30 ต.ค.นี้ ซึ่งการสืบพยานให้เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น.- 16.00 น. และกำชับให้คู่ความนำพยานให้พร้อมนำสืบ โดยศาลนัดคู่ความเพื่อตรวจความพร้อมของหลักฐานและเอกสารอีกครั้งวันที่ 17 ส.ค.นี้ เวลา 9.00 น. ภายหลังนายสรยุทธ กล่าวว่า คดีนี้ไม่ได้ขอสืบพยานลับหลัง โดยหลังจากจัดรายการเสร็จตนพร้อมมาศาลเพื่อฟังคดีเองทุกนัด