นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เครื่องถ่ายเอกสารที่ใช้ในสำนักงานนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้ใช้งานเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำหน้าที่ถ่ายเอกสาร เนื่องจากเครื่องถ่ายเอกสารมีกลิ่นสารเคมี และแสงจากเครื่องในขณะที่ถ่ายเอกสารเข้าดวงตาเสมอ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ที่ใช้งานในระยะยาวได้
โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคระบบหายใจ เช่น โรคหอบหืด ไม่ควรสัมผัสโอโซน ส่วนรังสี UV จากหลอดไฟฟ้าพลังงานสูง จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ แสบตา กระจกตาอักเสบ เกิดผื่นคันตามผิวหนัง อันตรายถัดมาคือผงหมึก มีทั้งแบบผงคาร์บอนดำ 100 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับพลาสติกเรซิน ในเครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง และผงหมึกละลายในสารอินทรีย์ประเภทปิโตรเลียม ในเครื่องถ่ายเอกสารระบบเปียก ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้ เป็นสารเคมีที่เป็นอันตราย
"สำหรับสารเคมีอื่นๆ เช่น เซเลเนียม แคดเมียมซัลไฟด์ ซิงค์ออกไซด์ และโพลิเมอร์บางตัว ซึ่งเคลือบไว้ที่ลูกกลิ้งในเครื่องถ่ายเอกสาร มีลักษณะเป็นสารเรืองแสง ระเหยออกมาได้ในระหว่างถ่ายเอกสาร โดยปกติปริมาณสารเคมีเหล่านี้มีน้อยเกินกว่าจะตรวจสอบได้ ซึ่งหากสูดดมสารเซเลเนียม เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ตา เยื่อเมือกกระเพาะอาหาร
หากรับเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการลิ้นเฝื่อน มีอาการล้า อาหารไม่ย่อย วิงเวียนศีรษะ และเมื่อได้รับในระดับความเข้มข้นสูงจะเป็นอันตรายต่อตับและไต ส่วนแคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็ง จะถูกปล่อยออกจากเครื่องถ่ายเอกสารน้อยกว่าเซเลเนียม แต่เป็นอันตรายมากกว่า" นพ.พรเทพ กล่าว