หน่วยความมั่นคงเปิดข้อมูลชาวโรฮีนจา ชี้ส่วนใหญ่จ่ายเงินลงเรือ

หน่วยความมั่นคงเปิดข้อมูลชาวโรฮีนจา ชี้ส่วนใหญ่จ่ายเงินลงเรือ


หน่วยงานความมั่นคงของไทย เผย ชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่มาจากคอกซ์บาซา ชายแดนบังกลาเทศที่ติดกับรัฐยะไข่ของเมียนมา ชี้จ่ายเงินลงเรือเพื่อมาทำงานประเทศที่สาม ยันไม่ได้ถูกค้ามนุษย์

จากกรณีข่าวการอพยพของผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮีนจา โดยระบุว่าเป็นการหนีภัยสงครามมาจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา และตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย จนมีกระแสเรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อดูแลชาวโรฮีนจานั้น

วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า กรณีดังกล่าวทางหน่วยงานความมั่นคงของไทยได้เปิดเผยข้อมูลอีกด้าน ระบุว่า ผู้อพยพชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากรัฐยะไข่ และไม่ได้ลงเรือหนีตาย แต่เป็นการจ่ายเงินไปหางานทำที่ประเทศที่สาม ไม่ใช่ปัญหาการค้ามนุษย์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยได้ตรวจสอบปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองดังกล่าวแล้วพบว่า สังคมไทยยังมีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหลายประการ คือ

1. ผู้อพยพไม่ใช่ชาวโรฮีนจาทั้งหมด แต่เป็นชาวบังคลาเทศครึ่งหนึ่ง

2. ผู้อพยพชาวโรฮีนจา ไม่ได้มาจากรัฐยะไข่ทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามาจากคอกซ์บาซา ชายแดนบังกลาเทศที่ติดกับรัฐยะไข่ของเมียนมา โดยชาวโรฮีนจาที่มาจากรัฐยะไข่ ก็เริ่มต้นลงเรือที่คอกซ์บาซา เพราะมีขบวนการนำพารับจ้างพาลงเรือล่องจากอ่าวเบงกอลสู่ทะเลอันดามัน

3. ผู้อพยพชาวโรฮีนจา สมัครใจเดินทางมาเพื่อต้องการมาหางานทำในประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย รวมไปถึงประเทศที่สามอื่น ๆ ไม่ใช่เหยื่อการค้ามนุษย์แต่อย่างใด

4. ผู้อพยพชาวโรฮีนจามีการลงขันออกเงินเช่าเรือเพื่อเดินทางด้วยความสมัครใจ ซึ่งไม่ใช่การค้ามนุษย์ แต่เป็นการลักลอบเข้าเมืองโดยจะมีขบวนการนำพาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

5. การจัดตั้งค่ายผู้อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราวในไทยไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง จึงไม่จำเป็น

6. ไทยสามารถส่งผู้อพยพไปยังคอกซ์บาซา ชายแดนบังกลาเทศได้ เพราะที่นั่นมีค่ายใหญ่อยู่ 2 ค่ายที่สามารถจุคนได้ร่วม 3 แสนคน แต่ตอนนี้ในค่ายมีชาวโรฮิงญาอยู่แค่ราว ๆ 2 หมื่นกว่าคนเท่านั้น

7. สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับปัญหาดังกล่าวเพราะถือว่าเป็นการปล่อยปละละเลยให้ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในค่ายที่คอกซ์บาซาหลบหนีออกมา เพราะค่ายดังกล่าวอยู่ในความดูแลของยูเอ็นเอชซีอาร์

8. ในวันที่ 29 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะป็นเจ้าภาพการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ร่วมกับประเทศอาเซียน ซึ่งจะหารือในประเด็นของการจัดการปัญหาที่ถูกต้อง โดยการส่งกลับไปที่ประเทศต้นทาง ซึ่งก็คือค่ายที่คอกซ์บาซา ประเทศบังคลาเทศ


ขอบคุณข่าวสารดีๆจาก :: isranews

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์