จากประวัติของพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แห่งวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
เคยกล่าวไว้ว่า หลวงพ่อคูณสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชแล้ว 7 พรรษา เป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ เมื่อ พ.ศ.2493 อีกทั้งหลวงพ่อคูณเคยกล่าวถึงวัตถุมงคลที่จัดทำขึ้นมาด้วยว่า "ใครขอกูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน"
เมื่อมีผู้ถามอีกว่า "หลวงพ่อแจกให้กับคนไม่ดี เป็นโจรผู้ร้ายอย่างนี้ หลวงพ่อไม่บาปหรือ" หลวงพ่อกล่าวตอบว่า "กูจะไปรู้หรือว่ามันเป็นใคร ถ้ามันเป็นโจร เมื่อมันได้รับประโยชน์จากของที่กูแจก มันคงคิดได้ว่าเป็นเพราะพระศาสนา มันจะได้เข้ามาสนใจปฏิบัติธรรม"
ทุกวันนี้ไม่มีใครบอกได้ว่า วัตถุมงคลมากมายที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อคูณนั้นมีจำนวนกี่รุ่น
ทั้งของวัดบ้านไร่เองหรือของวัดอื่นๆ ที่มาขอจัดสร้างขึ้นมา แต่ที่แน่ๆ มีเหรียญหลวงพ่อคูณจำนวนหนึ่งที่เหล่าเซียนพระ นักสะสมพระเครื่อง และผู้ที่มีความศรัทธาในหลวงพ่อคูณ ต่างแสวงอยากได้มาไว้ในความครอบครอง
อรรถวัติ ศิริสิทธิธงไชย หรือ "บอย ท่าพระจันทร์" เซียนพระชื่อดัง ให้ความเห็นว่า
ถ้าพูดถึงเหรียญหลวงพ่อคูณที่ได้รับความนิยมและนิยมมาโดยตลอดจะมี 4 รุ่น คือรุ่นปี พ.ศ.2512 ของวัดแจ้งนอก เนื่องจากเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อคูณ ส่วนรุ่นปี 2517 ของวัดสระแก้ว รุ่นปี 2519 ของวัดบ้านไร่ ออกโดยท่านเอง และสุดท้ายรุ่นเจ้าสัวที่เพิ่งออกได้ปีกว่า (2557) ได้รับความนิยมสูงมาก เป็นเหรียญที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด ราคาไม่แพงมาก มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
"เหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นเจ้าสัว 2557 ตอนแรกที่ออกมาก็มีกระแสแรงมากอยู่แล้ว ราคาอยู่ที่เหรียญละ 300 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 5,000-6,000 บาท น่าจะเป็นหมื่นในอนาคต ถ้าอยากเก็บเหรียญหลวงพ่อคูณ ผมแนะนำเป็นรุ่นเจ้าสัว มีทั้งเหรียญที่แจกฟรีและเหรียญต่างๆ ที่ตอนนี้ราคาถือว่ายังไม่สูงมาก ส่วนเครื่องรางของขลังอื่นของหลวงพ่อคูณไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่ากับเหรียญ ส่วนใหญ่จะมีเป็นตะกรุดทองคำอันที่ฝังกับแขน ก็ไม่มีการซื้อขายอยู่แล้ว"
บอย ท่าพระจันทร์ กล่าวต่อว่า "ตอนนี้คนให้ความสนใจค่อนข้างมาก มีโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาหาวันหนึ่งเป็นร้อยคน แต่ส่วนตัวผมเป็นคนเก็บเหรียญหลวงพ่อคูณอยู่แล้ว ไม่ได้ปล่อยให้เช่า เพราะผมศรัทธาท่าน ไปเยี่ยมท่านเสมอ 2-3 เดือนต่อครั้ง ล่าสุดเพิ่งไปกราบไหว้ท่านก่อนมรณภาพ 1 สัปดาห์ ผมจะเก็บเหรียญหลวงพ่อคูณไว้พอสมควร ไม่ค่อยได้ปล่อย มาถามหาก็จะไม่มี"
บอยยังกล่าวแนะนำสำหรับการเลือกเช่าบูชาว่า เหรียญหลวงพ่อคูณมีราคามานานแล้ว จึงทำให้มีการเลียนแบบเกิดขึ้นมานานเช่นกัน
การจะแยกแยะว่าเป็นของแท้หรือของปลอมต้องอาศัยความชำนาญ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะดูกันได้เลย อย่างน้อยต้องมีเหรียญแท้ไว้ดูก่อนเบื้องต้น ถ้าจะเดินไปเช่าเลยผมไม่แนะนำ หรือถ้าจะเช่าจริงๆ ให้เช่าจากร้านที่เชื่อถือได้
"ถ้ามาในราคาถูกให้สงสัยไว้ก่อนได้ เพราะของดีไม่มีถูก ของแท้ 1 เหรียญ อาจจะมีของปลอม 4,000-5,000 เหรียญ ฉะนั้นจะหาของจริง 1 จาก 4,000 มันยากเหมือนกัน ต้องอาศัยความชำนาญ" บอยกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ไกรสร ธามเสถียรชัย หรือ "ด๋น" เซียนพระย่านพันธุ์ทิพย์-งามวงศ์วาน สะสมหลวงพ่อคูณอย่างเดียว
ให้ความเห็นว่า วัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณดังเรื่องในเหรียญ ส่วนเครื่องรางของขลังมีน้อย รุ่นดังคือรุ่นแรกเป็นตะกรุดลูกสะกด เป็นรุ่นที่ดังที่สุด สร้างเมื่อปี พ.ศ.2507 เป็นตะกั่ว แผ่นยันต์ 2 แผ่นม้วน ในเส้นนี้จะมีตะกั่ว 6 เม็ด หลวงพ่อท่านลงอักขระยันต์เองทุกเม็ด แล้วจารด้วยท่านเอง เอกลักษณ์คือการจารในตะกั่วโดยไม่มีอะไรคลุม (จารสด) เป็นรุ่นแรกของท่าน มีความเชื่อว่าช่วยด้วยโชคลาภ คงกระพัน เมตตา ปกป้อง ถือว่าดังมากในวงการ มีราคาและหายาก มูลค่าประมาณ 2 หมื่นบาท แต่ต้องเป็นชิ้นที่เก็บสภาพดีถึงจะได้ราคานี้
"ยังมีรุ่น 2 รุ่น 3 เสื้อยันต์ และจระเข้เผือกคุ้มภัยปี 45 เนื้อสำริดชุบเงิน รุ่นนี้มีที่มาจากการที่ชาวญี่ปุ่นที่มีภรรยาเป็นคนไทยไปกราบหลวงพ่อคูณที่วัดบ้านไร่ ปรากฏว่ารถที่ 3 คนพ่อแม่ลูกนั่งอยู่ไหลลงสระที่หลวงพ่อเลี้ยงจระเข้ไว้ อยู่ดีๆ จระเข้เผือกได้ดันรถขึ้นมา หลวงพ่อจึงสร้างเครื่องรางเป็นรูปจระเข้ออกมา ราคาตั้งแต่ 5 พันถึงหมื่นบาท และมีน้ำเต้าทำจากไม้ขนุดอุด ไม้มะยม เชื่อว่าให้โชคลาภด้านการค้าขาย นอกจากนี้ยังมีแบงก์พัน แบงก์ห้าร้อย แบงก์ร้อย แบงก์ยี่สิบรุ่นหลวงพ่อ มีภาพของหลวงพ่อนั่งยอง เป็นแบงก์ขวัญถุงที่ออกมาช่วงปี 2535-2537 ตอนนี้ราคาอยู่ที่ 3-5 พัน ยังมีเสื้อยันต์หลวงพ่อคูณ รุ่นอุปถัมภ์วัดบ้านแปรง (วัดบ้านแปรง อ.ด่านขุนทด) ด้านหน้าของเสื้อยันต์เป็นภาพหลวงพ่อคูณนั่งสูบบุหรี่ ด้านหลังเป็นยันต์ รวมถึงมีดหมอที่หล่อขึ้นมาเมื่อปี 2536 มีรุ่นเสาร์ฟ้าและรุ่นเฮงคูณเฮง"
"ท่านสร้างพระเป็นพันรุ่น แต่ที่เล่นๆ กันมี 2 ร้อยกว่ารุ่น ส่วนเครื่องรางนั้นมีน้อย" เซียน "ด๋น" กล่าว
เอกภพ สุรำไพ หรือ "เซียนเอก" สมาชิกชมรมพระเครื่องเมืองเสมา โคราช ตั้งแผงรับเช่าบูชาพระเครื่อง วัตถุมงคลทุกประเภท ส่วนใหญ่เป็นวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ กล่าวว่า หลังจากหลวงพ่อคูณละสังขารเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา การเช่าบูชาวัตถุมงคลทุกชนิดของหลวงพ่อคูณมีประชาชนจำนวนมากเข้ามาสอบถามเพิ่มมากขึ้น 2-3 เท่า
"ส่วนใหญ่เลือกเช่าบูชาเป็นเหรียญหลวงพ่อคูณ ราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน นอกจากนี้ มีประชาชนจำนวนมากที่นำวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณออกมาให้เซียนพระช่วยตรวจสอบ ทางชมรมพระเครื่องเมืองเสมายินดีที่จะช่วยดูให้โดยทั้งหมด เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยลดการถูกหลอกลวงได้"
กล่าวสำหรับหนังสือประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ที่ทางวัดบ้านไร่จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสวันเกิดครบ 77 ปี วันพุธที่ 4 ตุลาคม 2543 ได้รวบรวมภาพและประวัติการสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ โดยมีวัตถุมงคลบางรุ่นที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป ประกอบด้วย
1.ตะกรุด ลูกศิษย์หลวงพ่อคูณสร้างขึ้นมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ตะกรุดทองคำ ตะกรุดโทน ตะกรุดลูกสะกด และตะกรุดชายจีวร โดยตะกรุดทองคำจะได้รับความนิยมมากที่สุด หลวงพ่อคูณได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชามาจากหลวงพ่อคง พุทธสโร อาจารย์ของท่าน เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2488
2.เหรียญรุ่นแรก (โยนสระ) สร้างเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2512 โดยวัดแจ้งนอก อ.เมืองนครราชสีมา เป็นที่ระลึกในงานฉลองพระประธาน สร้างเพียง 10,000 เหรียญ เนื่องจากประชาชนมีความต้องการมาก เพื่อความยุติธรรมจึงโยนเหรียญลงสระน้ำ หากผู้ใดอยากได้ให้ดำน้ำลงไปงมหาเอาเอง
3.เหรียญรุ่นที่ระลึกสร้างกุฏิสงฆ์ วัดสระแก้ว สร้างเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2517 โดยวัดสระแก้ว อ.เมืองนครราชสีมา เป็นที่ระลึกในการสร้างกุฏิสงฆ์ มี 2 แบบ คือ แบบเหรียญรูป และแบบสมเด็จปริสุทฺโธขัดสมาธิเพชร
4.เหรียญรุ่นสร้างบารมี สร้างขึ้นเมื่อปี 2519 เป็นที่ระลึกในงานสร้างวัดโนนแดง อ.โนนแดง จ.นครราชสีมา มีลักษณะเป็นรูปไข่ สร้างเนื้อทองคำ 19 เหรียญ เงิน 199 เหรียญ นวโลหะ 99 เหรียญ และทองแดง 2,519 เหรียญ
5.พระกริ่งญาณวิทยาคม สร้างเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2535 ในโอกาสหลวงพ่อคูณได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นสามัญ เป็นชุดพระกริ่งคู่บารมี ประกอบไปด้วย ชุดเนื้อทองคำ และชุดเนื้อนวโลหะ
6.พระกริ่งปริสุทฺโธ รุ่นทิ้งทวน สร้างเมื่อปี 2536 ด้านล่างองค์พระจารึกคำว่า "คูณ" ติดที่ฝาปิดกริ่ง หลวงพ่อคูณตั้งใจจะสร้างเป็นรุ่นสุดท้าย จึงตั้งชื่อว่ารุ่นทิ้งทวน
7.พระยอดธง รุ่นทูลเกล้าฯ สร้างเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในบุษบกเหนืออุโบสถวัดบ้านไร่ เป็นรุ่นที่สร้างด้วยเนื้อทองคำ มอบเป็นที่ระลึกสำหรับผู้ที่ถวายเงินสมทบขึ้นทูลเกล้าฯถวายในหลวง
และ 8.เหรียญรุ่นลูกเสือชาวบ้าน สร้างเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2520 นำรายได้ไปพัฒนากิจการลูกเสือชาวบ้าน
ถึงบรรทัดนี้ ลองใคร่ไปสำรวจดูของแต่ละคนกันหน่อยว่ามีหลวงพ่อคูณบูชาไว้เป็นรุ่นไหนกันบ้าง