วันนี้ (16พ.ค.2558) คณะแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาออกประกาศฉบับที่ 4 เรื่องอาการของพระเทพวิทยาคม หรือ "หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ" เจ้าอาวาส วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ระบุว่า พระเทพวิทยาคมมีอาการโดยรวมทรุดลง ได้มรณภาพลงแล้ว เมื่อเวลา 11.45 น.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2558 เวลา 05.45 น. พระเทพวิทยาคมมีอาการหมดสติ ไม่รู้สึกตัว คณะแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและโรงพยาบาลด่านขุนทดตรวจประเมินพบว่าพระเทพวิทยาคมหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นจึงได้ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง (CPR) เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง จนอาการทรงตัว จากนั้นจึงได้ใส่เครื่องช่วยหายใจพร้อมทั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจและส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. นายแพทย์สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้มอบหมายให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขาทำการรักษา จากการประเมินพบว่าหลวงพ่อคูณมีลมรั่วในปอดด้านซ้ายและมีเสมหะอุดกั้นทางเดินหายใจ หลังจากนั้นโรงพยาบาลได้ออกประกาศเรื่องอาการของหลวงพ่อคูณเป็นระยะ
และประกาศงดเยี่ยมอาการอาพาธโดยเด็ดขาด เวลาประมาณ 20.00 น. คณะแพทย์จาก รพ.ศิริราช ได้เข้าตรวจอาการของหลวงพ่อคูณร่วมกับแพทย์จาก รพ.มหาราชนครราชสีมา และได้แถลงว่าหลวงพ่อคูณมีสัญญาณชีพไม่คงที่ ต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจและเครื่องช่วยหายใจ, มีเลือดออกในทางเดินอาหารจำนวนมาก และมีภาวะไตหยุดทำงาน ไม่มีปัสสาวะออก ซึ่งความผิดปกติทั้งหมดนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากปอดและหัวใจหยุดทำงานเป็นเวลานาน วันนี้ (16พ.ค.2558) เมื่อเวลา 10.00 น. คณะแพทย์รายงานผลว่าการเฝ้าตรวจติดตามอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณ มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดออกในช่องอก ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์ได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับภาวะไตไม่ทำงานได้ให้การรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขณะนี้อาการโดยรวมทรุดลง
จนกระทั่งเวลา 11.45 น. ของวันนี้ หลวงพ่อคูณได้มรณภาพด้วยอาการสงบ เว็บไซต์ของวิหารเทพวิทยาคม วัดบ้านไร่ กล่าวถึงประวัติของหลวงพ่อคูณไว้ดังนี้ หลวงพ่อคูณ ถือกําเนิดที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ต.ค.2466 มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน บิดามารดาของหลวงพ่อคูณเสียชีวิตลงในขณะที่ลูกๆ ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้องๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ยังได้สั่งสอนวิชาคาถาอาคมให้ด้วย หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2487
โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอําเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ปริสุทโธ" หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สํานักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา หลวงพ่อคูณได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งให้การศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน หลังจากนั้นหลวงพ่อคูณได้ออกธุดงค์ จาริกอยู่ในเขต จ.นครราชสีมา รวมทั้งธุดงค์ไปไกลถึงประเทศลาว และกัมพูชา
หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากกัมพูชากลับมายังประเทศไทย เดินข้ามเขตด้าน จ.สุรินทร์ สู่ จ.นครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดําเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ.2496 โรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านโดยรอบดีขึ้นด้วย หลวงพ่อคูณเป็นพระที่มีชื่อเสียงเรื่องการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งท่านได้สร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชได้ 7 พรรษา โดยเริ่มทําวัตถุมงคลซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคํา "ใครขอกูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน" เป็นคํากล่าวของท่าน เมื่อปี 2556
หลวงพ่อคูณเคยอาพาธด้วยอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการหลอดลมอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจนอาการดีขึ้นก่อนจะกลับไปรักษาตัวที่วัดบ้านไร่ โดยมีคณะแพทย์เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณมีทั้งทรงตัวและแย่ลง
จนกระทั่งมีอาการหมดสติเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2558