จาก "ฟอลคอนฯ" ถึง "ตากสิน"จินตนาการของนักเขียนฝรั่งเศส
ตำนานการกอบกู้ชาติขององค์พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มิเพียงเป็นที่ประจักษ์เฉพาะในหมู่เหล่าผองชาวไทยเท่านั้น หากยังระบือไกลข้ามฟากฟ้าไปถึงเมืองน้ำหอม เมื่อ แคลร์ คีฟ ฟอกซ์ รับราชการเป็นล่าม กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ได้หยิบยกเอาเรื่องราวของพระองค์ท่านมาถ่ายทอดในรูปแบบนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ "ตากสิน มหาราชชาตินักรบ" (LE ROI DES RIZIERES) โดยใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลนานถึง 5 ปี
ล่าสุด สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ได้นำเอาบทประพันธ์ดังกล่าวแปลจากภาษาฝรั่งเศสเป็นไทย โดยสำนวนของ กล้วยไม้ แก้วสนธิ เช่นกันกับเรื่อง "ฟอลคอนแห่งอยุธยา" นวนิยายอีกเรื่องของแคลร์ที่เคยผ่านสายตาชาวไทยมาแล้ว
"ตากสิน" ในจินตนาการของแคลร์ เล่าเรื่องผ่านตัวละคร มาธิว-ชาร์ล เดอ แคร์แอรเว" ชาวฝรั่งเศส ผู้ลี้ภัยหนีคดีมาจากบ้านเกิดเมืองนอน กระทั่งได้พบกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งยังทรงเป็นสามัญชน โดยฉายภาพประวัติศาสตร์ไทยปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ไล่เรื่องราวตั้งแต่เหตุการณ์สงครามกับพม่าจนถึงช่วงกรุงแตก การกู้เอกราชสถาปนาอาณาจักรธนบุรี พร้อมสร้างขวัญกำลังใจและแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยแก่อาณาประชาราษฎร์ การรับศึกพม่าเพื่อป้องกันอาณาจักรแห่งใหม่ การขยายอำนาจของอาณาจักร จนนำไปสู่เหตุการณ์จลาจลปลายรัชกาล นอกจากนี้ แคลร์ยังนำเสนอเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนสิ้นพระชนม์ชีพ
ล่ามชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า เหตุผลที่เธอสนใจเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ต้องนับย้อนไปตั้งแต่สมัยเด็กๆ ที่ทางบ้านปลูกฝังให้เธอเป็นคนสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ โดยแคลร์มีโอกาสได้อ่านประวัติของจอมจักรพรรดิฝรั่งเศส "นโปเลียน" ตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ จนได้มีโอกาสมาสัมผัสเมืองไทย ก็เกิดความรู้สึกหลงใหลเสน่ห์แห่งประวัติศาสตร์อันเก่าแก่จนยากจะบรรยาย "ฟอลคอน" จึงก่อเกิดเป็นนิยาย ตามมาด้วยภาพสมบูรณ์ปิดท้ายกรุงศรีอยุธยาใน "ตากสิน"
"ฉันรู้สึกว่า เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมีความคล้ายคลึงกับจักรพรรดินโปเลียน ตรงที่ต่างทรงมาจากสามัญชน เป็นขุนนางรับใช้ประเทศชาติ ทั้งคู่สามารถกอบกู้ประเทศของตนเองได้ โดยที่นโปเลียนกอบกู้ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ส่วนพระเจ้าตากทรงกอบกู้เอกราชจากพม่า อีกประการคือทั้งสองพระองค์ไม่ใช่นักการเมืองเต็มตัว แต่ทรงไปจับด้านการทหาร ต่างทรงทำเพื่อประเทศชาติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฉันคิดว่าจะทำให้คนฝรั่งเศสสนใจที่จะอ่านหนังสือของฉันพร้อมกับรู้จักเมืองไทยไปด้วย" แคลร์ แจกแจง
แคลร์ เล่าว่า เธอเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งในประเทศไทยและฝรั่งเศส ผ่านสามแหล่งข้อมูล คือวิทยานิพนธ์ของผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาประวัติศาสตร์ด้านนี้โดยตรง ข้อมูลหลักฐานของมิสชันนารีชาวฝรั่งเศสและโปรตุเกสที่เคยเดินทางมาในเมืองไทยในสมัยนั้น และจากพงศาวดาร ซึ่งเธอเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสองประเทศนี้นับครั้งไม่ถ้วน พร้อมมีโอกาสได้ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไนไทยเกี่ยวกับเรื่องราวที่อ่อนไหวครั้งสิ้นกรุงธนบุรี
"ฉันได้รับข้อมูลหลายกระแส โดยฉันเลือกบทสรุปของเรื่องจากข้อมูลที่พระองค์ทรงพระประชวร แต่ก็ยังทรงรักบ้านเมือง แม้จะเสี่ยงต่อการถูกวิจารณ์ แต่การตัดสินใจในชีวิตก็เสี่ยงไปหมดนั่นแหละ ฉันสร้างตัวละครจากจินตนาการขึ้นมาเองด้วย เป็นมุมมองของชาวต่างประเทศที่เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการสะท้อนถึงตัวตนความเป็นคนต่างชาติของฉัน นี่จึงไม่ใช่ตัวละครที่สมบูรณ์แบบ อาจจะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง อาจมีคิดผิดคิดถูกได้เสมอ" นักเขียนสาว กล่าว พร้อมบอกด้วยว่า เธอได้ไปกราบพระอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อ 3 ปี ก่อน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้การเขียนหนังสือสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และการมาเยือนไทยเพื่อเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ เธอก็ยังไปกราบไหว้มาแล้วอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่แคลร์เป็นล่ามให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฌาค ชีรัก ในการประชุมเอเปคที่จัดขึ้นในประเทศไทย เธอยังมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แคลร์บรรยายความรู้สึกว่า จากการที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองไทยนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ จนได้ยลพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ณ เบื้องหน้า ภาพทุกภาพที่เธอจินตนาการ กลายเป็นภาพที่ต่อเนื่องเคลื่อนไหว ทำให้เธอรู้สึกตื้นตันอย่างยิ่ง
"ในงานเปิดสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในเมืองไทยครั้งนี้ ฉันมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านทรงตรัสถามถึงหนังสือว่าได้ข้อมูลมาจากไหน ฉันทูลไปว่า ได้ศึกษาข้อมูลมาก่อน ท่านตรัสว่าคนที่แปลเรื่องนี้ จริงๆ แล้ว เป็นพระสหายของท่านเอง ท่านตรัสว่ารัชกาลที่ 1 ทรงเป็นบรรพบุรุษของท่านด้วย ฉันอธิบายไม่ถูกว่าชอบเมืองไทยเพราะอะไร เหมือนที่นักปรัชญาสองคนว่าไว้ ทำไมถึงเป็นเพื่อนกัน ฉันก็เป็นตัวฉัน เธอก็เป็นตัวเธอ มันมีบางอย่างจูนเข้าหากัน เป็นปฏิกิริยาทางเคมี เหมือนความรู้สึกของฉันที่มีต่อประเทศไทย" นักเขียนสาวบรรยายความรู้สึก
พร้อมกันนี้ แคลร์มีโครงการจะเขียนหนังสือนวนิยายเรื่องต่อไปเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างไทยและฝรั่งเศส ในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยมีประเทศกัมพูชาเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี เธอเชื่อว่า นวนิยาย "ตากสิน" จะให้คุณค่ากับคนอ่านในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความซื่อสัตย์ มิตรภาพ ความจงรักภักดี และความกล้าหาญของนักรบ
กว่าจะได้มาซึ่งความเป็น "ปึกแผ่น" บรรพบุรุษต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงถือเป็นการสืบสานเจตนารมณ์บรรพบุรุษ ที่ทำให้ "คนต่างชาติ" รู้สึกซาบซึ้ง และถ่ายทอดให้คนไทยได้ระลึกถึงอีกครั้งในวันนี้
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว