นักปั่น-นักบิดเฮ!′กทม.′เปลี่ยนฝาท่อใหม่ทั่วกรุงเทพ

นักปั่น-นักบิดเฮ!′กทม.′เปลี่ยนฝาท่อใหม่ทั่วกรุงเทพ

สำนักระบายน้ำเปลี่ยนฝาท่อทั่วกรุง 250,000 จุด ช่องว่างเป็นแนวขวางเอื้อจักรยาน-มอเตอร์ไซค์ เฝ้าระวังน้ำท่วมจุดสร้างรถไฟฟ้า ห้ามวัสดุก่อสร้างขวางกั้น จี้ผู้รับเหมาติดไฟกะพริบ แท่งปูน- แบริเออร์ป้องกันอุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม นายกังวาฬ ดีสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า

 ปัจจุบันมีประชาชนหันมาใช้จักรยานในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง กทม.ก็ได้พัฒนาเส้นทางจักรยานในหลายพื้นที่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนและเพื่อการท่องเที่ยว แต่หนึ่งในปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมาบ่อยครั้งคือฝาท่อระบายน้ำไม่เรียบเสมอกับผิวจราจร และมีช่องว่างจนทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างขับขี่ทั้งจักรยานและจักรยานยนต์ กทม.มีแผนเร่งแก้ไขเพื่อสนับสนุนการขับขี่อย่างปลอดภัย สำนักการระบายน้ำได้สำรวจจุดที่ต้องปรับปรุงและประสานไปยังสำนักการโยธาให้ดำเนินการเปลี่ยนฝาท่อระบายน้ำที่ชำรุดเสียหายซึ่งในปี 2558 จะทยอยเปลี่ยนฝาท่อระบายน้ำกว่า 250,000 จุด ซึ่งฝาท่อแบบใหม่จะเรียบเสมอกับผิวจราจร และช่องว่างจะเป็นแนวขวางกับเส้นทางเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ขับขี่ และมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่เสียหายได้ง่าย

นายกังวาฬกล่าวว่า นอกจากนี้ กทม.กำลังเร่งแก้ปัญหาจุดอ่อนน้ำขัง 23 จุด ด้วยการปรับผิวจราจรในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เรียบเสมอกัน

พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและจัดทำสถานีสูบน้ำ และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในจุดที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า เนื่องจากการก่อสร้างมักมีปัญหาวัสดุก่อสร้างปิดทางน้ำระบายลงคลอง จึงทำให้ผิวจราจรโดยรอบเกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งได้ประสานผู้รับเหมาให้เตรียมความพร้อมและแก้ปัญหาดังกล่าว ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม

ด้านนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา

กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ชนรถกระเช้าของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย ถนนจรัญสนิทวงศ์ขาเข้า เขตบางกอกน้อย ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บว่า กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยระหว่างก่อสร้างเป็นระยะ ทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการก่อสร้างอาคาร เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน แต่ไม่ใช่ในลักษณะควบคุมการก่อสร้าง หากพบว่าระหว่างก่อสร้างมีจุดที่เสี่ยงอันตรายกับประชาชนหรือมีประชาชนร้องเรียน

อาทิ ผิวจราจรชำรุด ทางเท้าเสียหาย เป็นต้น กทม.ก็จะแจ้งตักเตือนให้ผู้รับเหมารีบแก้ไขทันที

โดยทั่วไปหากจะมีการตั้งวางอุปกรณ์ก่อสร้างบนผิวจราจรหรือบนสะพานอย่างในกรณีนี้ ทางผู้รับเหมาต้องติดตั้งไฟกะพริบ ตั้งแท่งปูนหรือแบริเออร์ หรือมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้สัญจรระมัดระวัง ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ได้แก่ สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์