สปช.ชนมติมหาเถรฯ ลุยสอบกก.หลายรูป

สปช.ชนมติมหาเถรฯ ลุยสอบกก.หลายรูป


กรณีมติการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ครั้งที่ 5/2558 ซึ่งมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ในการยืนยันว่า พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ยังไม่ปาราชิก เพราะไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิตสังฆราช และคืนทรัพย์สินให้วัดไปแล้วนั้น
 
ในเรื่องนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า มติมหาเถรสมาคมดังกล่าว เป็นมติที่จะต้องถูกตรวจสอบ เพราะขัดและแย้งกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2542 ที่รับรองโดยมติของมหาเถรสมาคมเอง

"การมีมติไปหักล้างมติเมื่อปี 2542 เป็นการใช้มติที่ประชุมของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ที่มีมติคือกรรมการมหาเถรสมาคม ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งในกฎหมายยังเขียนด้วยว่า มติจะมีผล ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยด้วย มติดังกล่าวจึงต้องถูกตรวจสอบว่ามีการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่"นายไพบูลย์กล่าวและว่า เบื้องต้น ที่ดูแล้ว มตินี้มีปัญหาแน่ เมื่อมีปัญหาออกมาโดยมหาเถรสมาคม ก็ต้องมีปัญหาที่จะต้องถูกตรวจสอบ กรรมการในมหาเถรสมาคมหลายรูป ก็ถูกร้องเรียนว่า มีลักษณะทับซ้อนกับการใช้ดุลยพินิจในเรื่องพระธัมมชโย จึงต้องถูกตรวจสอบ เพราะมีปัญหาเรื่องการใช้ดุลยพินิจ


นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า มติเมื่อวาน (20 ก.พ.) ที่ออกมาบอกว่าไม่ขัดกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช แต่ดูอย่างไรก็ขัด อีกประการคือ บอกว่าพระธัมมชโยได้คืนทรัพย์สินให้วัดหมดแล้ว ไม่มีเจตนาถือไว้ จึงไม่ต้องปาราชิก กรณีนี้มันคนละเรื่องกัน เพราะการเอาทรัพย์สินที่เป็นของวัดมาใส่ชื่อตัวเอง ถือว่าขาดจากความเป็นพระแล้ว ยกตัวอย่างพระที่เสพเมถุน แม้ไม่ผิดกฎหมายก็ปาราชิก เรื่องเอาทรัพย์สินมาเป็นของตัวเอง แม้สุดท้ายเจ้าของทรัพย์จะยอมความ ไม่เอาผิด ทางโลกถือว่าพ้นผิด แต่ในทางธรรม "ปาราชิก" ไปตั้งแต่มีเจตนามาใส่ชื่อตัวเอง แม้ตอนหลังจะมาคืน แต่ความเป็นปาราชิกมันต่อไปไม่ได้ มันขาดไปแล้ว

ยกลิขิต 10 พ.ค. 42 ชี้ชัด "อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย"

สปช.รายนี้ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญคือ สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตอีกฉบับเมื่อปี 2542 ว่าพระธัมมชโยได้ปาราชิกไปแล้ว เพราะไปบิดเบือนคำสอนของพระพุทธศาสนา ทำให้สงฆ์แตกแยก ซึ่งมติของมหาเถรสมาคมเมื่อวาน ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ โดยพระลิขิตฉบับวันที่ 10 พ.ค. 42 ลิขิตชัดว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย" การที่ทรงใช้คำนี้ เพราะเห็นว่าพระธัมมชโยขาดจากความเป็นพระไปแล้ว การปาราชิกก็มีผลทันทีตั้งแต่ตอนนั้น มติของมหาเถรสมาคมเมื่อวานจะมีปัญหาแน่

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบมหาเถรสมาคมนั้น จะเป็นการตรวจสอบในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนการตรวจสอบพระธัมมชโย ทางคณะกรรมการฯจะดูไปถึงพฤติกรรมที่ไปรับเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่ไปฉ้อโกงเงินของประชาชน และรับเงินไปนานแล้ว เมื่อมีเรื่องร้องเรียนในศาล ก็ไปพูดว่า ไม่รู้จักกับอดีตประธานสหกรณ์ ทั้งที่ข้อเท็จจริงรู้จักกันแน่ และประชาชนไม่มีความประสงค์จะให้ แต่ยังถือไว้อีก นี่คือสิ่งที่เราจะตรวจสอบ เพราะเข้าข่ายกระทำปาราชิก

"พระธัมมชโยสำหรับผม ถือว่าปาราชิกไปแล้ว ตามมติของมหาเถรสมาคมเมื่อปี 2542 การมาบอกว่า ฆราวาสไปตรวจสอบสงฆ์ไม่ได้ เป็นคนละเรื่องกัน ที่พูดนี้เป็นเรื่องธรรมวินัย แต่ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบทางกฎหมาย เพราะเจ้าอาวาสเป็นตำแหน่งทางกฎหมาย อย่างเรื่องวัดสระเกศที่สตง.ไปตรวจสอบเรื่องเงิน ทำไมตรวจสอบได้ มันตรวจสอบได้ทั้งหมด และการที่เราตรวจสอบนี้ คือการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีปัญหาจึงต้องถูกตรวจสอบ เพราะจะต้องไม่มีการขัดกันในผลประโยชน์ มีผู้นำข้อมูลมาให้แล้ว"นายไพบูลย์กล่าวทิ้งท้าย


"ส. ศิวรักษ์" ขย่มซ้ำ "ความอัปลักษณ์ของกรรมการฯ"

ด้านนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ "ส. ศิวรักษ์" นักเขียนและนักวิชาการอิสระ ฉายา "ปัญญาชนสยาม" ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sulak Sivaraksa ระบุตอนหนึ่งว่า "การที่มหาเถรสมาคมลงมติ ว่าธมฺมชโยไม่เป็นปราชิกนั้น แสดงว่ากรรมการมหาเถรสมาคมที่ลงคะแนนให้ธมฺมชโย น่าจะมีชนักติดหลังในทำนองเดียวกัน ในเมื่อลายพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชชี้ชัดว่าบุคคลผู้นี้ต้องอทินนาทานปราชิก แล้วกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งอ้างว่าเคารพสมเด็จพระสังฆบิดร กลับไม่ทำตามมติสมเด็จพระสังฆราช โดยที่อ้างว่าเขาคืนเงินให้แล้ว เป็นอันหมดมลทิน นั่นเป็นเรื่องตะแบงพระวินัยอย่างชัดเจน
.
แต่นี่ไม่ใช่คราวแรกที่มหาเถรสมาคมมีพฤติกรรมเช่นนี้ เช่นเมื่อคราวกิตฺติวุฒฺโฑภิกขุสั่งรถวอลโว่เข้ามาโดยไม่ยอมเสียภาษี นี่ก็เป็นอทินนาทานปราชิกเช่นเดียวกัน เพราะพระมีค่าเพียงแค่เงินบาทเดียว ฉ้อฉลเพียงบาทเดียวก็ต้องอทินนาทานปราชิกหมดความเป็นภิกษุภาวะ คราวกิตฺติวุฒฺโฑ มหาเถรสมาคมก็ลงมติว่าเป็นนิคสักขีปาจิตตี และให้เอาเงินไปเสียภาษี เพื่อจบเรื่อง ดังกรณีธมฺมชโยก็เช่นกัน อ้างว่าได้คืนเงินคืนทองไปแล้ว ยังสามารถคงความเป็นลัชชีไว้ได้ นี่เป็นตัวอย่างแห่งความอัปลักษณ์ของกรรมการมหาเถรสมาคม

ชีวิตพรหมจรรย์แปลว่าชีวิตอันประเสริฐ ต้องต่างไปจากชีวิตชาวบ้าน ซึ่งเป็นกามโภคี พระภิกษุสามเณรต้องเจริญเนกขัมมปฏิปทา แม่นทั้งทางศีลสิกขาและเจริญจิตสิกขา เพื่ออบรมตัวเองให้เข้าถึงปัญญา จะได้แลเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามสภาพความเป็นจริงที่แท้ ถ้าไตรสิกขาเป็นเพียงคำพูด โดยไม่ประพฤติปฏิบัติตามที่เนื้อหาสาระ พระศาสนาก็ย่อมจะสั่นคลอนและอาจถึงซึ่งความอับปางก็ได้ ภายในชั่วอายุของกรรมการมหาเถรสมาคมในบัดนี้นี่เอง"


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์