เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและองค์กรอิสระ ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาสภาพโครงสร้างองค์กรอิสระ โดยเชิญ นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเลขาธิการ กสม.พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง
โดย นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี ในฐานะรองประธานคณะอนุกมธ.ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองฯ กล่าวหลังประชุมว่า
ที่ประชุมหารือถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อเสนอให้ยุบรวม กสม.และผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน ซึ่ง กสม.ได้ให้ข้อมูลพร้อมตอบข้อซักถามอย่างละเอียด โดยให้ความเห็นว่า ไม่ควรยุบรวมกัน ดังนั้นคณะอนุกมธ.จะเก็บข้อมูลไว้เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกสม.ซึ่งคาดว่าจะ ส่งความเห็นดังกล่าวให้แก่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม.กล่าวว่า ได้ให้ข้อมูลในที่ประชุมเรื่องกระบวนการเกี่ยวกับการตรวจสอบที่หลายฝ่ายมอง ว่า ทำงานซับซ้อนกัน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการซ้ำซ้อนเพียงแค่ชื่อเ แต่รายละเอียดการทำงานต่างกัน การที่เราไม่เห็นด้วยกับการควบรวมองค์กรทั้งสองเข้าด้วยกัน เพราะประชาชนจะเสียผลประโยชน์และกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน
ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช.และโฆษกกมธ.ยกร่างฯแถลงข่าวว่า
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ต้องการให้แก้ข้อบังคับการประชุม สปช.เนื่องจากเห็นว่า วิปสปช.มีความจำเป็นต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จึงต้องการแก้ข้อบังคับในสัดส่วนของวิปสปช.โดยให้บุคคลจาก ครม.คสช.และสนช.เข้ามาเป็นวิปสปช.ได้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนวันที่ 11กุมภาพันธ์ จะประชุมร่วมคณะกรรมการประสานงาน โดยกรรมาธิการ 18คณะ กรรมาธิการชุดพิเศษ 15คณะ
ร่วมกับ คสช.ครม.และสนช.มีประเด็นสำคัญคือ สปช.จะรายงานวาระปฏิรูป 36วาระที่สำคัญ ซึ่งต้องให้เสร็จก่อนวันที่ 27กุมภาพันธ์และแนวทางปฏิรูปต้องเสร็จก่อนวันที่ 10เมษายน อีกเรื่องคือการที่นายกได้ปรารภในวันประชุมแม่น้ำ 5สาย เมื่อวันที่ 4กุมภาพันธ์ ว่า พระบางรูป วัดบางวัด มีการสอนผิดเพี้ยน บางองค์ หรือบางแห่ง มีเงินจำนวนมาก จึงเสนอให้ไปปฏิรูปเรื่องเหล่านี้ด้วย วันนี้จึงตั้งคณะกรรมการปฏิรูปศาสนาขึ้นมาประชุมวันแรก โดยมี นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.เป็นประธานคณะกรรมการฯ
ทางด้าน นายไพบูลย์ กล่าวในที่ประชุมว่า พรบ.คณะสงฆ์2505 เน้นการปกครองภายในของพระสงฆ์ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูปแล้ว กิจการของศาสนาก็จะเสื่อมลง ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายแสดงความเห็นอย่างหลากหลายต่อเรื่องดังกล่าว ส่วนใหญ่เสนอให้จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินวัดและพระสงฆ์ เนื่องจากมีพระสงฆ์นำเงินไปใช้ในทางเสื่อมเสียต่อพระศาสนา อีกทั้งไวยาวัจกรผู้ที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินวัดนั้น เจ้าอาวาสมีอำนาจแต่งตั้งแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น จึงเสนอให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการทรัพย์สิน หรือจัดตั้งคณะกรรมการดูแลทรัพย์สินในวัด จากนั้นควรมีหน่วยงานมีหน้าที่ตีความพระธรรมวินัยเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง ของพระสงฆ์ ทั้งยังเสนอให้ใบสุทธิของพระสงฆ์ ให้ออกเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยโยงข้อมูลเหมือนบัตรประชาชน เพื่อเป็นมาตรการตรวจสอบไม่ให้พระสงฆ์กระทำความผิด เป็นต้น
วันเดียวกันสำนักข่าวNHKของญี่ปุ่น รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวNHK ในโอกาสเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยNHK รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการเลือกตั้ง สส.ในประเทศไทย ว่า หากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินไปด้วยความราบรื่น อาจทำให้การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย มีขึ้นเร็วสุดในปลายปี2558 หรือต้นปี2559 พร้อมยืนยันว่า ยังมีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกต่อไป เพราะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายตรงข้าม ทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยก โดยกฎอัยการศึกจะช่วยสร้างเสถียรภาพและความปลอดภัยในประเทศไทย
ด้าน นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช.และโฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีนายกฯให้สัมภาษณ์สำนักข่าวNHK
ที่ระบุอาจจัดเลือกตั้งปลายปี2558 ว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากการยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่างๆเสร็จ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ความพร้อมของประชาชนและสถานการณ์ของประเทศในขณะนั้นว่า พร้อมจะเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าทุกคนพร้อมและการเลือกตั้งทำให้ประเทศสงบสุข เดินไปได้ เรื่องนี้นายกฯพูดไม่ผิด แต่ต้องดูความพร้อมของทุกฝ่ายด้วย