โพลล์แฉครูพันธุ์พิเศษกั๊กความรู้ บีบนร.ไปกวดวิชาที่รับเปิดสอนเอง

โพลล์แฉครูพันธุ์พิเศษกั๊กความรู้ บีบนร.ไปกวดวิชาที่รับเปิดสอนเอง

กรรมการอาวุโส สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา

ร่วมแถลงผลสำรวจความคิดเห็นต่อค่าเรียนกวดวิชาซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่เผยกลัวแบกภาระค่ากวดวิชาของบุตรหลานเพิ่มเนื่องจากรัฐบาลฟันธงเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาที่เปิดอยู่กว่า 10,000 แห่ง ซึ่ง กลุ่มผู้ปกครองนักเรียนที่ถูกสำรวจ มีทั้งหมด 1,103 ราย และสำรวจเมื่อช่วงวันที่ 24-29 มกราคม

โดยสำรวจเป็นดังนี้ คือในด้านพฤติกรรมการให้บุตรหลานไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชา

กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.82 ระบุว่าในปัจจุบันตนเองให้บุตรหลานในปกครองไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชานอกเหนือจากการเรียนในสถาบันการศึกษาปกติ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.1 ไม่ให้ไปเรียน สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างให้บุตรหลานในปกครองไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาได้แก่ ต้องการให้บุตรหลานได้เตรียมความพร้อมเพื่อการสอบในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 82.64 ต้องการให้บุตรหลานเพิ่มทักษะความรู้ในวิชานั้นๆ คิดเป็นร้อยละ 80.03 และต้องการให้ผลการเรียนบุตรหลานดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 76.58 ส่วนสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างไม่ให้บุตรหลานไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาคือ ไม่มีความจำเป็นต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติมคิดเป็นร้อยละ 82.76 สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 79.31 และกลัวบุตรหลานไม่ได้ไปเรียนพิเศษจริงๆคิดเป็นร้อยละ 77.98

ในด้านความคิดเห็นต่อโรงเรียนกวดวิชา กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.41
 
มีความคิดเห็นว่าโรงเรียนกวดวิชาจะมีส่วนช่วยทำให้นักเรียนนักศึกษามีทักษะความรู้ในวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้นได้จริง แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.76 ไม่เห็นด้วยว่าโรงเรียนกวดวิชามีส่วนช่วยให้นักเรียนนักศึกษาใช้เวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น เล่นเกม เที่ยวเตร่ น้อยลง

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.14

มีความคิดเห็นว่าการสอนในโรงเรียนกวดวิชาของครูอาจารย์จะส่งผลให้ครูอาจารย์เหล่านั้นให้ความสนใจ/มีสมาธิกับการสอนในชั้นเรียนน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.71 คิดว่าไม่ส่งผล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.15 ไม่แน่ใจ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.67 มีความคิดเห็นว่าการสอนเพิ่มเติมในโรงเรียนกวดวิชาของครูอาจารย์จะมีส่วนทำให้ครูอาจารย์ผู้นั้นเอาใจใส่/ให้ความสนใจนักเรียนนักศึกษาที่ไปเรียนกวดวิชากับตนเองมากกว่านักเรียนนักศึกษาที่ไม่ได้ไปเรียน

และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 48.41 เคยได้ยินบุตรหลานบ่นเกี่ยวกับครูอาจารย์ที่ “กั๊ก” วิชาในชั้นเรียน

เพื่อให้นักเรียนต้องไปเรียนยังโรงเรียนกวดวิชาที่ครูอาจารย์เหล่านั้นสอนอยู่ ในด้านความรับรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้กับโรงเรียนกวดวิชา มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 45.97 ที่ทราบข่าวที่จะให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้จากโรงเรียนกวดวิชา ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54.03 ไม่ทราบ

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามซึ่งคิดเป็นร้อยละ 67.72 เห็นด้วยที่จะให้มีการเก็บภาษีเงินได้กับโรงเรียนกวดวิชา
 
ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.75 มีความคิดเห็นว่าการเก็บภาษีเงินได้กับโรงเรียนกวดวิชาจะไม่ส่งผลกับการตัดสินใจของตนเองในการให้/ไม่ให้บุตรหลานเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.75 มีความคิดเห็นว่าหากโรงเรียนกวดวิชาขึ้นค่าเรียนอันเนื่องมาจากการถูกเก็บภาษีเงินได้จะไม่ส่งผลให้มีนักเรียนนักศึกษาไปเรียนน้อยลง


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์