26 ม.ค. 58 ที่ศูนย์ควบคุมการติดตามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์ราชการฯ
นายวัลลภ นาคบัว รอง ผอ.สำนักกิจการยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายประสาร มหาลี้ตระกูล รองกรมคุมประพฤติ แถลงผลการดำเนินการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) หรือ กำไลข้อเท้า มาใช้แทนการคุมขังว่า ขณะนี้เป็นช่วงสัญญาเช่ารอบ 2 โดยก่อนหน้านี้มีการเช่าใช้กำไลข้อเท้าไปแล้ว 200 ชุด ในปีนี้เป็นการเช่าใหม่จำนวน 3,000 ชุด เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2557 ในพื้นที่ 23 จังหวัด ล่าสุดมีการใช้กำไลข้อเท้ากับผู้กระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลแล้ว 57 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจร 31 ราย คดีบุกรุก 4 ราย คดียาเสพติด 3 ราย คดีขับรถประมาท 3 ราย คดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 3 ราย ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย ความผิดพ.ร.บ.สารระเหย พ.ร.บ.อาวุธปืน คดีละ 1 ราย และตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 10 ราย
ทั้งนี้ ยังไม่พบว่ามีผู้เจตนาฝ่าฝืนการใช้กำไลข้อเท้า โดยกรมคุมประพฤติมีแนวโน้มจะขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หลังพบว่าระยะหลังศาลมีความเชื่อมั่นและมีคำสั่งใช้กำไลข้อเท้ามากขึ้น
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า การใช้กำไลข้อเท้าเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยในการควบคุมผู้กระทำผิดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด
ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น กรณีเมาแล้วขับศาลจะกำหนดเขตพื้นที่ห้ามเข้า ห้ามออก หรือจำกัดเส้นทางเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ ไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถปรับพฤติกรรมได้ ทั้งนี้นอกจากกำไลข้อเท้าที่เป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมแล้ว งานบริการสังคมถือว่ามีความจำเป็น โดยมีแนวคิดปรับงานบริการสังคมที่อาจดึงความถนัดหรือความเชี่ยวชาญของผู้กระทำผิดมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น